“กระจับ” พืชเขาควายแห่งเมืองสุพรรณ | มหาอำนาจบ้านนา
กระจับเขาควาย
“กระจับเขาควาย” สุดยอดวัตถุดิบท้องถิ่นในจังหวัดสุพรรณบุรี จากเดิมเป็นวัชพืชที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก “พี่จุ๋ม” หนุ่มสุพรรณ ที่แต่เดิมบ้านทำไร่กระจับมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เขาได้ทำให้กระจับกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น จากการโพสต์ในโลกโซเชียลมีเดีย จึงทำให้เป็นน่าสนใจแก่ผู้พบเห็น และเขายังสร้างรายได้จากการปลูกกระจับ ทำการตลาดเพื่อส่งออกเป็นเจ้าแรกอีกด้วย กระจับนอกจากจะมีรูปร่างหน้าตาที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ในเรื่องของรสชาติก็ยังมีความอร่อยที่ลงตัวอีกตัว
กระจับเขาควาย เป็นพืชน้ำล้มลุกอายุหลายฤดู มีอยู่ทั่วไป ลักษณะเป็นกอลอยน้ำ ชอบน้ำนิ่ง มีรากหยั่งยึดดินและมีไหล ใบเดี่ยวมี 2 แบบ ใบที่ลอยน้ำมีก้านยาว อวบน้ำและพองเป็นกระเปาะตรงกลาง ทำให้ลอยน้ำได้ดี แผ่นใบมีรูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หรือรูปพัด ใบจะเรียงรอบลำต้นเวียนเป็นเกลียวถี่ๆ ทำให้ดูเหมือนใบแผ่เป็นวงรอบต้น ใบอีกแบบหนึ่งอยู่ในน้ำ เป็นเส้นฝอยๆ คล้ายราก
ดอก เป็นดอกเดี่ยวสีขาว ออกที่โคนก้านใบ มีกลีบดอก 4 กลีบ บานอยู่เหนือน้ำ เมื่อติดผลแล้ว ก้านดอกจะงอกลับลงน้ำและผลจะเจริญอยู่ใต้น้ำ ผลอ่อนสีม่วงอมแดงจะเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อแก่ ส่วนที่เป็นเขาโค้ง 2 ข้าง เจริญมาจากกลีบเลี้ยง ผลหรือฝักกระจับมีสีดำขนาดใหญ่ เปลือกหนาแข็งงอโค้งคล้ายเขาควาย เมื่อกะเทาะเปลือกนอกที่แข็งออก จะได้เนื้อในสีขาว มีแป้งมาก
สำหรับประโยชน์ของกระจับมีมากมาย ซึ่งส่วนมากและการใช้ประโยชน์จากกระจับจะนิยมนำฝักกระจับ มารับประทานเนื้อของฝักกระจับ สามารถนำเอามาทำอาหารหวานและอาหารคาวได้มากมาย ส่วนต้นกระจับหลายคนนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ เหมือนบัว ต้นกระจับนั้นสามารถใช้ประโยชน์ได้ นำมาทำยาแก้ปวดท้อง นอกจากนั้น ต้นกระจับที่เหลือจากการนำมาใช้ประโชยน์นั้นนิยมนำมาทำปุ๋ยหมัก ซึ่งสามารถวับน้ำได้ดี เหมาะแก่การปลูกพืช
ขั้นตอนการปลูก
วิธีการ เหมือนกับการดำนา เอายอดพันธุ์มาดำ โดยนำยอด 1-2 ยอด ฝังลงไปในพื้นดิน ระยะห่างระหว่างต้นและแถว (1.1 x 1 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ = 1,000 กอ) และหลังจากปลูก 1 สัปดาห์ ใส่ปุ๋ยสูตร 24-8-8 ต้นกล้าเริ่มตั้งตัวและทอดยอด จากนั้นให้เริ่มเติมน้ำเข้าแปลงเป็นระยะๆ จนระดับความสูงขั้นต่ำ 60 เซนติเมตร พอต้นแข็งแรงเริ่มแตกกอและตั้งยอด บำรุงด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 24-8-8 อีกครั้งร่วมกับปุ๋ยน้ำหรือสารสกัดสมุนไพร ฉีดพ่นทางใบ ทุกๆ 15-20 วัน
การเก็บผลผลิต
กระจับอ่อน มีสีน้ำตาลอ่อน กระจับแก่ มีสีน้ำตาลเข้ม คนเก็บมือใหม่ ใช้วิธีกดเขา ถ้าเขาแก่ แข็ง ไม่หัก หากนำไปต้มกิน ต้องใช้กระจับแก่ แข็งๆ
ที่มา : รายการมหาอำนาจบ้านนา วันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม 2566 เวลา 16.05 – 16.30 น. ทางไทยพีบีเอส หรือรับชมย้อนหลังได้ทาง http://www.thaipbs.or.th/LordsOfFarm
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ