เทคโนโลยีด้านการเกษตร » การปลูกถั่วฝักยาว และวิธีการดูแลรักษา

การปลูกถั่วฝักยาว และวิธีการดูแลรักษา

22 ธันวาคม 2022
2257   0

การปลูกถั่วฝักยาว และวิธีการดูแลรักษา

การปลูกถั่วฝักยาว

การปลูกถั่วฝักยาว


ถั่วฝักยาว จัดเป็นพืชผักในตระกูลถั่ว ปลูกได้ตลอดปีแต่ปลูกได้ผลที่สุด คือ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤศจิกายน เป็นผักชนิดหนึ่งที่ชาวเอเชียนิยมบริโภคโดยเฉพาะชาวฮ่องกง และสิงคโปร์ นอกจากตลาดเอเชียแล้ว ตลาดต่างประเทศทางยุโรป ซึ่งมีคนเอเชียอพยพเข้าไปอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก เช่น ฝรั่งเศสอังกฤษ และเยอรมันตะวันตก ตลอดจนประเทศทางแถบตะวันออกกลาง ก็นับว่าเป็นตลาดที่ค่อนข้างจะมีความต้องการสูง จึงนับได้ว่า ถั่วฝักยาวเป็นพืชผักชนิดหนึ่งที่นิยมบริโภคทั้งภายในและนอกประเทศ





ถั่วฝักยาว เป็นพืชตระกูลถั่วที่มีความสำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย นอกจากจะใช้ปรุงอาหาร บางชนิดใช้บริโภคสดในชีวิตประจำวันแล้ว ยังใช้เป็นวัตถุดิบในด้านอุตสาหกรรมบรรจุกระป้องและแช่แข็งด้วย

ถั่วฝักยาวมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศจีนและอินเดีย เป็นพืชตระกูลถั่งที่มีลำต้นเป็นเถาเลื้อย การเลื้อยของเถา มีทิศทางการพันทวนเข็มนาฬิกา การปลูกโดยการทำค้างจะทำให้ผลผลิตสูงขึ้น ถั่วฝักยาวนอกจากจะเป็นพืชผักที่มีคุณค่าทางอาหารแล้ว การปลูกถั่วฝักยาวจะช่วยปรับปรุงบำรุงดินด้วย เพราะโดยธรรมชาติแล้ว ระบบรากของพืชตระกูลถั่วจะมีการตรึงไนโตรเจน จากอากาศมาไว้ในดิน นับว่าเป็นพืชที่มีประโยชน์หลายอย่าง

ฤดูปลูกถั่วฝักยาว

ถั่วฝักยาวเป็นผักที่ปลูกได้ทุกฤดูกาลใน เขตร้อน ชอบอากาศค่อนข้างร้อน ฝนไม่ชุก ถ้าอากาศร้อนเกินไปหรือฝนตกชุก จะทำให้ดอกร่วงและฝักร่วง ถ้าอากาศหนาวเกินไปจะชะงักการเจริญเติบโต เนื่องจากระบบรากไม่ทำงาน ดังนั้น ถั่วฝักยาวมักให้ผลผลิตในช่วงฤดูแล้งสูงกว่าในฤดูฝนแต่ในช่วงฤดูฝนหากมีการดูแลรักษาที่ดี คุณภาพของฝักที่ได้จะสมบูรณ์กว่าในช่วงฤดูร้อน

ระยะปลูก

ระหว่างแถว 70 – 80 เซนติเมตร ระยยปลูก 40-50 เซนติเมตร

การเตรียมดิน การปลูกถั่วฝักยาว

1. ถั่วฝักยาวสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินแทบทุกชนิด แต่ลักษณะดินที่มีความเหมาะสมในการปลูก คือดินร่วนทราย หรือดินร่วนปนทราย และความเป็นกรดและด่างของดิน (pH) มีค่าระหว่าง 5.5-6

2. การเตรียมดิน ถั่วฝักยาวเป็นพืชที่มีระบบรากละเอียดอ่อน การเตรียมดินที่ดีจะช่วยให้การเจริญเติบโตสมบูรณ์และสม่ำเสมอ ขั้นตอนแรกให้ไถพรวน ความลึกประมาณ 6-8 นิ้ว ตากดินทิ้งไว้ 5-7 วัน เพื่อทำลายไข่แมลง และศัตรูพืชบางชนิด เก็บเศษวัชพืชออกจากแปลงให้หมด จากนั้นจึงไถคราด ควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวแล้ว เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดีขึ้น การยกร่องสำหรับถั่วฝักยาวนั้น ปกติจะยกร่องกว้างประมาณ 1 -1.2 เมตร โดยให้ความยาวเหมาะสมกับสภาพแปลง และเตรียมร่องระหว่างแปลงสำหรับเข้าไปปฏิบัติงาน กว้างประมาณ 0.5 – 0.8 เมตร ในสภาพพื้นที่ ที่ไม่เคยมีการวิเคราะห์ดินมาก่อนควรเก็บตัวอย่างดินเพื่อนำไปวิเคราะห์เคมี เพื่อให้ทราบถึงความจำเป็นและได้ข้อมูลในการปรับปรุงบำรุงดินให้เหมาะสมต่อไป

การปลูก

1.การเตรียมเมล็ดพันธุ์

ปกติในการปลูกถั่วฝักยาวในเนื้อที่ 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 3-4 กิโลกรัม นำเมล็ดพันธุ์ไปทดสอบความอก คัดเมล็ดที่มีตำหนิออก และควรคลุกเมล็ดด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดแมลง เพื่อป้องกันแมลงเข้าทำลายด้วย

2.การเตรียมหลุมปลูก

ให้ใช้จอบขุดหลุมให้ระยะระหว่างแถวห่างกัน 0.8 เมตร ระยะระหว่างหลุม 0.5 เมตร โดยให้หลุมลึกประมาณ 4 -6 นิ้ว ใช้ปุยเคมีสูตรที่เหมาะสมกับถั่วฝักยาว เช่น 15-15-15, 13-13-21, 12-24 -12, 5 -10-5 หรือ 6-12- 12 ใส่หลุมละ 1/2 ซ้อนแกง (10-15 กรัม) คลุกเคล้าให้เข้ากัน





3. การปลูกโดยหยอดเมล็ด

หลุมละ 4 เมล็ดแล้วกลบดินให้ลึกประมาณ 5 เซนติเมตรแล้วจึงรดน้ำทันที สำหรับการให้น้ำระยะ 1-7 วัน ควรให้น้ำทุกวันๆ ละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ให้พิจารณาสภาพภูมิอากาศ และสภาพดินด้วย

4. การถอนแยก

หลังจากหยอดเมล็ดแล้วประมาณ 5 – 7วัน เมล็ดจะเริ่มงอก เมื่อมีใบจริงประมาณ 4 ใบ ให้ถอนแยกเหลือต้นแข็งแรงไว้ 2 ต้นต่อหลุม ขณะที่ถอนแยกให้พรวนดินและกำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้วัชพืชมาแย่งน้ำ และอาหารจากถั่วฝักยาว

การดูแลรักษา

ถั่วฝักยาว เป็นพืชที่ต้องการการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด การดูแลรักษาที่ดีจะมีผลต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตอย่างมาก ขั้นตอนต่าง ๆ ของการดูแลรักษานั้น มีดังนี้

การให้น้ำ

ถั่วฝักยาว เป็นพืชที่ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรแฉะเกินไป ระยะเจริญเติบโตหลังจาก ถอนแยกแล้วควรให้น้ำทุก 3-5 วันต่อครั้ง ให้ตรวจสอบความขึ้นในดินให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตระบบการให้น้ำอาจใช้วิธีการใส่น้ำเข้าตามร่อง หรืออาจจะใช้วิธีการตักรดโดยตรง ขึ้นอยู่กับแหล่งน้ำที่มีสภาพพื้นที่ปลูกและความชำนาญของผู้ปลูก

การทำค้าง

ถั่วฝักยาว เป็นพืชที่ต้องอาศัยค้างเพื่อเกาะพยุงลำต้นให้เจริญเติบโต ไม้ที่ใช้สำหรับทำไม้ค้างนั้นใช้ไม้ไผ่ หรือไม้อื่น ๆ ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น โดยความยาวของไม้มีความยาวประมาณ 2.5-3 เมตรหรือ อาจจะสร้างโครงเสาแล้วใช้ลวดซึงด้านบน และใช้เชือกห้อยลงมายังลำต้นถั่วฝักยาวให้เลื้อยขึ้นระยะ เวลาการใส่ค้างถั่วฝักยาวนั้นจะเริ่มใส่หลังจากงอกแล้ว 15-20 วัน โดยจับต้นถั่วฝักยาวให้พันเลื้อยขึ้น ค้างในลักษณะทวนเข็มนาฬิกา วิธีการปักค้างทำได้หลายวิธี เช่น

  • ปักไม้ค้างหลุมละ 1 ค้าง โดยให้ตั้งฉากกับผิวดิน
  • ปักไม้ค้างหลุมละ 1 ค้าง โดยให้เอียงเข้าหาร่องเป็นคู่และมัดปลายเข้าด้วยกันใช้ไม้ไผ่พาดยึดค้างด้านบนให้แข็งแรง
  • ปักไม้ค้างหลุมละ 1 ค้าง โดยให้เอียงเข้าหากันกลางร่องเป็นคู่ แล้วมัดปลายเช่นเดียวกับ แต่ใช้ไม้ค้ำยันแต่ละคู่เป็นแบบกระโจม
  • การใช้เชือกแทนค้าง พบว่าในแหล่งที่หาค้างยาก ผู้ปลูกพยายามใช้เชือกแทนค้าง ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง ดังนั้นการปลูกถั่วฝักยาว ควรมีการทดสอบการใช้เชือกแทนค้าง เพื่อหาข้อมูลสำหรับการลดตันทุนการผลิตต่อไป

การใส่ปุ๋ย

ถั่วฝักยาว เป็นพืชที่ต้องการธาตุฟอสฟอรัสสูงในการสร้างดอก ในทางวิชาการแนะนำให้ใช้ปุ๋ยอัตราส่วนของในโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P205) และโปรแตสเซียม (K20) คือ 1:1.5-2:1 ปุ๋ย สูตรดังกล่าวไม่มีจำหน่ายในท้องถิ่น อาจใช้สูตร 15-15-15 ซึ่งใช้ในสภาพดินที่เป็นดินเหนียว หรือ สูตร13-13-21 ในสภาพดินที่เป็นดินทราย สำหรับการใส่นั้นควรแบ่งใส่ดังนี้ คือ

  • ใส่ขณะที่เตรียมหลุมปลูกตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น
  • ใส่เมื่อต้นถั่วอายุประมาณ 15 วัน โดยการพรวนดินแล้วโรยปุ้ยรอบ ๆ ต้นให้ห่างจากโคนต้นประมาณ 10 เชนติเมตร ในอัตรา 1 ช้อนแกง (25-30 กรัม) ต่อหลุมแล้วใช้ดินกลบเพื่อป้องกันไม่ให้ปุ๋ยสูญเสียไป การใส่ปุ๋ยร่วมกับปุ้ยคอกในระยะนี้ จะทำให้การใช้ปุ๋ยเคมีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
  • ใส่เมื่อเก็บผลครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 55 วัน โดยใส่ปุ๊ยประมาณ 2 ซ้อนแกงต่อต้น และหลังจากนั้นให้ใส่ปุ๋ยทุก ๆ 7 -10 วัน การใส่ปุ๋ยระหว่างช่วงเก็บเกี่ยวอย่างสม่ำเสมอ และปริมาณพอจะทำให้เก็บถั่วฝักยาวได้นาน โดยผลผลิตมีคุณภาพดี และปริมาณผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น

การกำจัดวัชพืช

หลังจากถั่วฝักยาวงอกแล้วต้องคอยดูแลวัชพืชในแปลงปลูก โดยทั่วไปแล้วจะกำจัดวัชพืช หลังจากเมล็ดงอกแล้วประมาณ 10-15 วัน หรือก่อนที่จะปีกค้างหลังจากนั้นจึงคอยสังเกตจำนวนวัชพืชในแปลง หากพบวัชพืชควรกำจัด และเมื่อต้นถั่วเจริญเติบโตคลุมแปลงแล้วจะทำให้การแข่งชันของวัชพืชลดลง ในการกำจัดวัชพืชในระยะที่ถั่วฝักยาวเริ่มออกดอกนั้น ต้องเพิ่มควรระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากการกำจัดวัชพืชอาจกระทบกระเทือนรากอันเป็นสาเหตุให้ดอกร่วงได้





ศัตรูถั่วฝักยาว

แมลงศัตรูถั่วฝักยาว พบว่าถั่วฝักยาวมีแมลงศัตรูที่สำคัญ หลายชนิด ได้แก่

1.หนอนแมลงวันเจาะต้นถั่ว

หนอนชนิดนี้จะเข้าทำลายต้นถั่วตั้งแต่ถั่วฝักยาว เริ่มงอกทำให้ใบเหี่ยวเฉาแห้งตาย นับเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญตัวหนึ่ง ลักษณะเป็นแมลงวันขนาดเล็กสีดำ ลำตัวยาว 0.2-0.3 เซนติเมตร ในขณะที่แดดจัดจะพบบริเวณใบอ่อนเมื่อทำลายแล้วจะเกิดจุดสีเหลืองซีด ลักษณะที่หนองทำลายจะเกิดรอยแตก ใบร่วง และเฉาเหี่ยวตายไปในที่สุด

การป้องกันกำจัด ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชพวกคาร์โบฟูราน (carbofuran ) เช่น ฟูราดาน หรือคูราแทร์ รองกันหลุมอัตรา 2 กรัม/หลุม ซึ่งจะมีผลควบคุม แมลงศัตรูได้ประมาณ1 เดือน สารเคมีประเภทนี้ควรใช้เฉพาะการหยอด รองก้อนหลุมพร้อมเมล็ดเท่านั้น

2.หนอนเจาะฝักถั่ว

เป็นหนอนที่ทำลายถั่วหลายชนิด หนอนในระยะแรกจะกัดกินภายในดอก ทำให้ดอกร่วงก่อนติดฝัก เมื่อหนอนโตขึ้นจะเจาะเข้าไปกัดกินภายในดอก ทำให้เกิดดอกร่วงก่อนติดฝัก ทำให้เกิดความเสียหาย ในลักษณะของแมลงศัตรูตัวแก่เป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก วางไข่ขนาดเล็ก (0.5-0.81 มิลลิเมตร) ตามกลีบเลี้ยง อายุฟักไข่ประมาณ 3 วัน แล้วจึงเข้าไประหว่างรอยต่อของกลีบดอก และเมื่อเจริญขึ้นหนอนจะเข้าไปทำลายดอกและฝักถั่วฝักยาว

การป้องกันกำจัด ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงที่มีฤทธิ์ตกค้างสั้น พวกเฟนวาเลอเรท (fenvalerate) ได้แก่ ชูมิไซดิน, ซูมิ 35 หรือไซเปอร์เมทริน (cypermethrin) ได้แก่ ชิมบุช เป็นต้น

3. เพลี้ยอ่อน

มักเข้าทำลายยอดอ่อนและฝักของถั่วฝักยาว โดยดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ต้นแกร็น ดอกร่วง ไม่ติดฝัก และหากฝักอ่อนถูกดูดกินน้ำเลี้ยงจะทำให้ได้ฝักขนาดเล็กลง การ
ป้องกันกำจัด ใช้สารเคมีพวกเมทามิโดฟอส (methamidophos) เช่น ทามารอน โซนาต้า มอลต้า โมนิเตอร์ เอฟ 5 เป็นต้น

การป้องกันจำกัด

  • วัชพืช กำจัดเมื่อเกิดวัชพืช
  • โรคเหี่ยว โรครากเน่า และโรคราแป้งราสนิม รดด้วยน้ำสกัดชีวภาพสูตรสมุนไพรป้องกันกำจัดเชื้อรา ในอัตรา 30 – 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร ทุก 4-7 วัน
  • แมลงหนอนเจาะฝักถั่ว เพลี้ยอ่อน รดด้วยน้ำสมุนไพรป้องกันกำจัดหนอนและแมลง ในอัตรา 30-50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร ทุก 4-7 วัน

การเก็บเกี่ยว

ถั่วฝักยาว จะเก็บเกี่ยวได้หลังจากปลูกประมาณ 55- 75 วัน ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง การเก็บนั้นอาจจะสังเกตจากลักษณะฝักที่ตรงตามความต้องการของตลาด หรืออาจจะนับวันโดยเริ่มจากวันผสมเกสรซึ่งจะอยู่ในช่วงประมาณ 10 – 15 วัน วิธีการเก็บให้ปลิดขั้ว ระวังไม่ให้ดอกใหม่หลุดเสียหาย เพราะจะกระทบกระเทือนต่อปริมาณผลผลิตลักษณะการเก็บให้ทยอยเก็บทุก ๆ 2-4 วัน โดยไม่ปล่อยให้ฝักแก่ตกค้าง ปกติแล้วระยะเวลาการให้ผลผลิตของถั่วฝักยาวอยู่ในช่วง 1 -2 เดือน หรืออาจเก็บได้ 20-40 ครั้ง ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาและสายพันธุ์ที่ปลูกขณะนั้นจากเก็บเกี่ยวถั่วฝักยาวแล้วให้นำเข้าร่มทันที ไม่ควรวางไว้หลังกลางแดด แล้วนำลงบรรจุในภาชนะ เช่น ตะกร้า หรือเช่งซึ่งบุด้วยวัสดุที่ป้องกันการขูดขีดผลผลิต ได้แก่ ใบตอง หรือวัสดุอื่นๆ ที่ใช้ทดแทนกันได้ การบรรจุนั้นไม่ควรบรรจุปริมาณมากเกินไป เพราะจะทำให้ผลผลิตบอบช้ำเสียหายได้

ลักษณะถั่วฝักยาวที่ตลาดต้องการ แบ่งได้ดังนี้

  • ความต้องการของตลาดในประเทศ ต้องการถั่วฝักยาวที่มีความยาว ฝัก 50-70 เชนติเมตร สีเปลือกเขียวฝักไม่พอง แต่ความต้องการในแต่ละท้องถิ่นนั้นจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความนิยมของผู้บริโภค และลักษณะการประกอบอาหารของแต่ละแหล่งด้วย
  • ความต้องการของตลาดต่างประเทศ ต้องการถั่วฝักยาวที่มีความยาวฝักประมาณ 36-40 เชนติเมตรขนาดสม่ำเสมอ สดไม่บอบช้ำ เก็บอ่อนกว่าปกติ 1-2 วัน

การเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์

ไม่ควรปล่อยให้ฝักของถั่วฝักยาวแห้งคาต้น พอฝักเริ่มเหลืองและพองตัวก็สามารถเก็บมาแกะเมล็ดนำออกตาก เพื่อเก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ต่อไปถ้าปลูกในฤดูฝน การเก็บเมล็ดพันธุ์จะยุ่งยากพอสมควรเพราะถ้าปล่อยให้แก่คาต้น เมล็ดในฝักจะงอกหรือเกิดเชื้อราทำลายเมล็ด ฉะนั้นควรระมัดระวัง และดูจังหวะเวลาเก็บเกี่ยวให้ดี

ที่มา : Sarakaset.com


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ