นวัตกรรมใหม่ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบไม่พลิกกลับกอง “วิศวกรรมแม่โจ้ 1”
การผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบไม่พลิกกลับกอง
ในการผลิตพืชผักและข้าวอินทรีย์ ปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดคือ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมัก เนื่องจากไม่สามารถใช้ปุ๋ยเคมีได้ จากผลการค้นคว้าวิจัยของ ผศ.ธีระพงษ์ สว่างปัญญางกูร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในปี พ.ศ. 2552 ได้มีนวัตกรรมใหม่ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบไม่ต้องพลิกกลับกอง เกษตรกรจะสามารถผลิตได้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดีปริมาณมากครั้งละ 10–100 ตัน ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้มีค่าตามมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตรของประเทศเสร็จภายในเวลาเพียง 60 วัน เรียกว่าวิธี “วิศวกรรมแม่โจ้ 1” ที่ไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีกลิ่นและน้ำเสีย วัตถุดิบมีเพียงเศษพืชกับมูลสัตว์เพียง 2 อย่างเท่านั้น โดยถ้าเศษพืชเป็นฟางข้าวหรือเศษข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อัตราส่วนระหว่างฟางข้าวหรือเศษข้าวโพดกับมูลสัตว์คือ 4 ต่อ 1 โดยปริมาตร และถ้าเป็นเศษใบไม้ให้ใช้อัตราส่วน 3 ต่อ 1 โดยปริมาตร
ขั้นตอนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์วิธี
- นำฟางข้าวหรือเศษข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 4 ส่วน วางเป็นชั้นบางๆ สูงไม่เกิน 10 เซนติเมตร ฐานกว้าง 2.5 เมตร โดยไม่ต้องขึ้นเหยียบ โปรยทับด้วยมูลสัตว์ 1 ส่วน แล้วรดน้ำ (ตัวอย่างเช่น วางฟาง 16 เข่ง หนา 10 ซม. โรยทับด้วยมูลสัตว์ 4 เข่ง เป็นต้น) ทำเช่นนี้ 15-17 ชั้น รดน้ำแต่ละชั้นให้มีความชื้น ขึ้นกองเป็นรูปสามเหลี่ยมที่มีความสูง 1.50 เมตร กองปุ๋ยจะมีความยาวเท่าไรก็ได้ เหตุผลที่ต้องทำเป็นชั้นบางๆ ก็เพื่อให้จุลินทรีย์ที่มีอยู่ในมูลสัตว์ได้ใช้ทั้งธาตุคาร์บอนที่มีอยู่ในเศษพืชและธาตุไนโตรเจนที่มีในมูลสัตว์ในการเจริญเติบโตและสร้างเซลล์ ทำให้การย่อยสลายวัตถุดิบเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว
ฟางข้าว 4 ส่วน มูลโค 1 ส่วน วางเป็นชั้นบางๆ หนา 10 ซม. ฐานกว้าง 2.5 เมตร รดน้ำแต่ละชั้นให้ชุ่มวางฟางสลับกับมูลสัตว์ 15 – 17 ชั้น กองเป็นรูปสามเหลี่ยม สูง 1.5 เมตรมีความยาวของกองไม่จำกัด - รักษาความชื้นภายในกองปุ๋ยให้มีความเหมาะสมอยู่เสมอตลอดเวลาโดยมี 3 ขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 รดน้ำภายนอกกองปุ๋ยวันละครั้ง โดยไม่ให้มีน้ำไหลนองออกมาจากกองปุ๋ยมากเกินไป
ขั้นตอนที่ 2 เมื่อครบวันที่ 10 ใช้ไม้แทงกองปุ๋ยให้เป็นรูลึกถึงข้างล่างแล้วกรอกน้ำลงไป ระยะห่างของรูประมาณ 40 เซนติเมตร ทำขั้นตอนที่สองนี้ 5 ครั้ง ระยะเวลาห่างกัน 10 วัน เมื่อเติมน้ำเสร็จแล้วให้ปิดรูเพื่อไม่ให้สูญเสียความร้อนภายในกองปุ๋ย ขั้นตอนนี้แม้ว่าอยู่ในช่วงของฤดูฝนก็ยังต้องทำ เพราะน้ำฝนไม่สามารถไหลซึมเข้าไปใน กองปุ๋ยได้
ขั้นตอนที่ 3 หลังวันที่ 20 ให้หมั่นนำจอบมาสุ่ม ตรวจสอบความชื้นภายในกองปยุ๋ โดยสับลึก 50 ซม. ถ้าพบว่าข้างในกองปุ๋ยแห้งก็ปรับวิธีการให้น้ำ
- เมื่อกองปุ๋ยมีอายุครบ 60 วัน ก็หยุดให้ความชื้น กองปุ๋ยจะมีความสูงเหลือเพียง 1 เมตร แล้วทำปุ๋ยอินทรีย์ให้แห้งเพื่อให้จุลินทรีย์สงบตัวไม่ให้เป็นอันตรายต่อรากพืช วิธีการทำปุ๋ยอินทรีย์ให้แห้งอาจทำโดยทิ้งไว้ในกองเฉยๆ หรืออาจแผ่กระจายกลางแดดให้มีความหนาประมาณ 20–30 ซม. สำหรับผู้ที่ต้องการจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์ก็อาจนำปุ๋ยอินทรีย์ที่แห้งแล้วไปตีป่นให้มีขนาดเล็กสม่ำเสมอซึ่งจะมีราคาประมาณกิโลกรัมละ 5-7 บาท สามารถเก็บได้นานหลายปี
สภาพปุ๋ยอินทรีย์จากฟางข้าวอายุ 60 วัน โดยไม่พลิกกลับกอง
หัวใจสำคัญของการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ด้วยวิธีนี้ คือ ต้องรักษาความชื้นภายในกองปุ๋ยให้มีความเหมาะสมอยู่เสมอตลอดเวลาทั้งภายในและภายนอกกองปุ๋ยด้วยวิธีการ 3 ขั้นตอนข้างต้น บริเวณใดที่แห้งเกินไปหรือแฉะเกินไปจุลินทรีย์จะไม่สามารถย่อยสลายได้ ทำให้วัสดุไม่ย่อยสลาย กระบวนการอาจใช้เวลานานถึง 6 เดือนถึง 1 ปีก็ได้
เศษพืชทุกชนิดสามารถนำมาใช้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์วิธีนี้ได้ เช่น ฟางข้าว ซังและเปลือกข้าวโพด ผักตบชวา เศษผักจากตลาด และเศษใบไม้ทั้งสดและแห้ง เป็นต้น ส่วนมูลสัตว์สามารถนำมาใช้ได้ทั้งมูลโค มูลไก่ และมูลสุกร ทั้งแห้งและเปียก โดยพบว่า ฟางข้าว ผักตบชวา และเศษข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นเศษพืชที่ย่อยสลายได้ง่ายที่สุด ส่วนเมล็ดลำไยหรือลิ้นจี่ก็สามารถนำมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้แต่ต้องนำไปตีบดในเครื่องย่อยเศษพืชเสียก่อน
ปริมาณการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการปลูกพืชผักหรือข้าวอินทรีย์คือ300–3,000 กก.ต่อไร่ หรือไม่เกิน 2 กก.ต่อตารางเมตร ขึ้นกับคุณภาพดินเพาะปลูกว่าดีหรือเลว
การทำกองปุ๋ยอินทรีย์ยาว 4 เมตร จะให้ปุ๋ยอินทรีย์ 1 ตันใช้มูลสัตว์ประมาณ 360 กก. เศษพืชประมาณ 1,000 กก. คิดเป็นต้นทุนในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ตันละ 720 บาท ในขณะที่ราคาจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์ในท้องตลาดคือตันละ 5,000–7,000 บาท
สำหรับผู้ที่มีเศษพืชไม่มาก ก็อาจลดขนาดและย่อส่วนเป็นการทำปุ๋ยหมักในวงตาข่ายหรือตะกร้าผ้าก็ได้ ซึ่งจะมีวิธีการและขั้นตอนเช่นเดียวกัน
แหล่งที่มา : ศูนย์ข้อมูลการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ปริมาณมากแบบไม่พลิกกลับกอง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ งบประมาณมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ปี พ.ศ. 2559 โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารอินทรีย์จังหวัดเชียงใหม่, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนวัฒน์ นิทัศน์วิจิตร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
- เลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ ประหยัดต้นทุนเพิ่มรายได้
- เทคนิคปลูกมะนาวอินทรีย์ในบ่อซีเมนต์ จัดการง่ายประหยัดต้นทุน