เทคโนโลยีด้านการเกษตร » การผลิตมะนาวให้ออกนอกฤดู

การผลิตมะนาวให้ออกนอกฤดู

17 ตุลาคม 2022
1046   0

การผลิตมะนาวให้ออกนอกฤดู

การผลิตมะนาวให้ออกนอกฤดู

มะนาว เป็นพืชตระกูลส้มที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง มีความอ่อนไหวต่อราคาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้งจะขาดแคลนราคาค่อนข้างแพง ผลใช้ประกอบอาหารอย่างต่อเนื่อง และมักพบปัญหาผลผลิต ล้นตลาดในช่วงฤดูฝน  ดังนั้น เพื่อให้มีปริมาณผลผลิตในฤดูกาลมีความเหมาะสมและราคาในฤดูไม่ให้ตกต่ำ จึงส่งเสริมการผลิตมะนาวนอกฤดูกันมากขึ้นมีหลายวิธี เช่น งดการให้น้ำและใช้สารพาโควบิวทราโซล เป็นต้น




 วิธีการและขั้นตอนการผลิตมะนาวนอกฤดู

     สำหรับเทคนิคการผลิตมะนาวนอกฤดูแบ่งออกเป็น 2 วิธี และเพื่อให้กระบวนการและวิธีการดำเนินการผลิต มะนาวนอกฤดูให้ประสบความสำเร็จควรทำความใน แต่ละวิธีดังนี้

1.)  การผลิตมะนาวนอกฤดูด้วยวิธีการงดการให้น้ำ

  • ช่วงเตรียมความพร้อมของต้น (ช่วงพฤษภาคม) ปลิดดอก และผลอ่อนที่อยู่บนต้นออกให้หมด
    •  การใส่ปุ๋ย
        –  ปุ๋ยอินทรีย์ 5-10 กิโลกรัม/ต้น

        –  ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 1-1.5 กิโลกรัม  เพื่อเร่งให้มะนาวแตกใบอ่อน
    •  ให้น้ำสม่ำเสมอ
    • การตัดแต่งกิ่ง  เลือกตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคและแมลงกิ่งฉีกหัก กิ่งซ้อนทับ กิ่งแซมในทรงพุ่มขนาดเล็ก หลังตัดแต่งกิ่งแล้ว ควรกระตุ้นให้มะนาวแตกใบอ่อนอย่างรวดเร็วเพื่อสร้างใบใหม่ที่สมบูรณ์ ดังนี้
        –  พ่นสารจิบเบอเรลลิค แอชิด (GA3) อัตรา  25 มิลลิกรัม/ลิตร เพื่อกระตุ้นให้ยอด และใบอ่อนเจริญ
        –  พ่นสารโพแทสเซียมไนเตรท 2.5% อัตรา  5 กิโลกรัมผสมสาหร่ายสกัด 200 ซีซี ในน้ำ 200 ลิตร เพื่อกระตุ้นการแตกตาดอก
  • ช่วงกระตุ้นการเจริญเติบโตของต้น (ช่วงพฤษภาคม-กรกฎาคม)

                  –  พ่นสารจิบเบอเรลริค แอซีด (GA 3) ความ เข้มข้น 25 มิลลิกรัม/น้ำ 1 ลิตร เพื่อเร่งการแตกกิ่ง และใบ
                  –  พ่นสารโพแทสเซียมไนเตรท 2.5% 5 กิโลกรัม ผสมสาหร่ายสกัดอัตรา 200 ซีซี/น้ำ 200 ลิตรเพื่อแตกยอดใหม่

  • ช่วงเตรียมความพร้อมในการออกดอกติดผล
             –   งดการให้น้ำ (สิงหาคม-กันยายน) หลังจากมะนาวผ่านการแตกใบอ่อนแล้วเป็นช่วงที่ต้องให้ปุ๋ย  เพื่อสร้างตาดอกใช้สูตร 8-24-20, 12-24-12 หรือ 9-24-24 หลังใส่ปุ๋ยให้น้ำอย่างสม่ำเสมอจนใบแก่เต็มที่ เนื้อใบแข็งกรอบ สีเขียวเข้มจึงเริ่มงดการให้น้ำ

            –  การให้น้ำใหม่ (ตุลาคม)  หลังจากนั้นเริ่มให้น้ำใหม่อย่างเต็มที่  มะนาวเริ่มออกดอก (พฤศจิกายน) เพื่อให้การออกดอกดีขึ้น ดอกสมบูรณ์แข็งแรง พ่นอาหารเสริม แล้ว มะนาวติดผลขนาดเล็ก และมีผลโต (ธันวาคม) ใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-16 และให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ

2.) วิธีการใช้สารพาโคลบิวทราโชล

  • ช่วงเตรียมความพร้อมของต้น (ช่วงพฤษภาคม) ปลิดดอกและผลอ่อนที่อยู่บนต้นออกให้หมด
    • การใส่ปุ๋ย
      ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ และ  ใส่ปุยเคมี สูตร 16-20-20 หรือ 15-15-15 หรือสูตร 16-16-16 ผสมกับปุ๋ยยูเรีย (46-0-0)
    • ตัดแต่งกิ่ง เลือกตัดกิ่งที่แห้ง โรคและแมลงทำลายกิ่งฉีกหัก กิ่งซ้อนทับ กิ่งแซมในทรงทุ่มขนาดเล็ก และ ให้น้ำอย่างเพียงพอและเหมาะสม
  • ช่วงกระตุ้นการเจริญเติบโตของต้น (ช่วงพฤษภาคม-กรกฎาคม)
    • พ่นสารจิบเบอเรลริคแอซิด (GA 3) ความเข้มข้น 25 มิลลิกรัม/น้ำ 1 ลิตรเพื่อเร่งการแตกกิ่งและใบ
    • พ่นสารโพแทสเซียมไนเตรท 2.5% 5 กิโลกรัมผสมสาหร่ายสกัดอัตรา 200 ซีซี/น้ำ 200 ลิตร เพื่อแตกยอดใหม่ และ ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอในปริมาณที่เหมาะสม
  • การบังคับการออกดอก (สิงหาคม-กันยายน)
    • ช่วงใบเพสลาด ราดสารพาโคลบิวทราโซล 10%  อัตรา 2.5-5 กรัม ผสมน้ำราดโคนต้นจากนั้นให้น้ำสม่ำเสมอ เพื่อรักษาความชื้นของดินเพื่อให้รากตันมะนาวดูดสารพาโคลบิวทราโซลไปยับยั้งไม่ให้มีการแตกใบอ่อน
    • ให้ปุยที่มีฟอสฟอรัสสูง สูตร 8-24-24 หรือ 9-24-24 ทางดินหรือให้ปุ๋ยทางใบสูตร 0-52-34 อัตรา 50 กรัม/น้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7 วัน 6-8 ครั้ง จะช่วยควบคุมไม่ให้แตกใบอ่อน
    • หลังจากให้ปุยแล้วประมาณ 30 วัน งดการให้น้ำเพื่อมะนาวเข้าสู่ระยะพักตัว
  • การกระตุ้นออกดอก (ตุลาคม-พฤศจิกายน)
    •  หลังราดสารพาโคลบิวทราโซลแล้ว 40-45 วัน ต้นมะนาวจะแสดงอาการพร้อมที่จะออกดอก โดยสังเกตใบแข็ง หนากรอบ สีเขียวเข้มใบจะกางออก
    • กระตุ้นให้ต้นมะนาวแตกตาดอก พ่นโพแทสเซียมไนเตรทความเข้มข้น 2.5% (500 กรัม/น้ำ 20 ลิตร) หลังพ่นสาร 7-10วัน มะนาวจะแตกตาดอกถ้าหากยังไม่แตกตาดอกให้พ่นสารโพแทสเซียมไนเตรทช้ำ
  • ระยะผลอ่อนจนถึงเก็บเกี่ยว (พฤศจิกายน-พฤษภาคม)
    • หลังจากมะนาวเริ่มติดผลอ่อนขนาดเมล็ดถั่วลิสง ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 2 กิโลกรัม/ต้น โดยแบ่งใส่ 2 ครั้งๆ ละ 1 กิโลกรัมต่อต้น ในช่วงเดือนพฤศจิกายนและมกราคม
    • ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผลมะนาว มีน้ำมากหากขาดน้ำอาจทำให้ผลร่วงเนื้อแห้งแข็งกระด้างไม่มีน้ำ




3.) การป้องกันกำจัดศัตรูมะนาว

หลังตัดแต่งกิ่งและใส่ปุ๋ยมะนาวจะแตกใบอ่อนภายใน 7-10 วัน ระยะนี้จะมีโรคและ แมลงเข้าทำลายในช่วงใบอ่อนดังนี้

  • แมลงศัตรูมะนาว

    • เพลี้ยไฟ จะดูดกินน้ำเลี้ยงยอดอ่อน ใบอ่อน ทำให้ใบอ่อนหงิกงอ เหลือง ขอบใบแห้งและหลุดร่วงได้หากตรวจพบฉีดพ่นสารสะเดาหรือน้ำส้มควันไม้ กรณีใช้สารเคมี ได้แก่ อิมิดาโคลพริด (คอนฟิดอร์ 10% SL) อัตรา 10 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์โบซัลแฟน (พอสซ์ 20% EC) อัตรา 40 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร หรืออะเซททามิพริด (โมแลน 20% SP) อัตรา 40 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
    • หนอนกัดกินใบ หนอนแก้ว เป็นตัวหนอนของผีเสื้อกลางวันโดยตัวหนอนจะออกจากไข่แล้วกัดกินใบอ่อนและลอกคราบเป็นหนอนแก้วขนาดใหญ่ และเป็นดักแด้ตัวแก่จะเป็นผีเสื้อ กรณีพบตัวอ่อนหนอนแก้วให้จับทำลาย หรือหากระบาดมากฉีดพ่นด้วยสารสะเดา น้ำส้มควันไม้ หรือฉีดพ่นด้วยคาร์บาริล 85% WP 70 กรัม/น้ำ 20 ลิตร  หรือเดลทาเมทริน 3% EC 5 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร
    • หนอนชอนใบ เป็นตัวอ่อนของผีเสื้อขนาดเล็กหนอนตัวอ่อนจะชอนไซเข้าไปกัดกินเนื้อใบในช่วงระยะใบอ่อนถึงเพสลาด ทำให้เห็นเส้นทางบนแผ่นใบมีรูปร่างบิดเบี้ยวและถ้าเป็นมากๆ ทำให้ใบแคระและบิดโค้งได้กรณีฃ ระบาดรุนแรง ควรฉีดพ่นด้วยสารเคมีชนิดดูดซึม
  • โรคศัตรูมะนาว

    • โรคแคงเคอร์ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยเชื้อสาเหตุจะแพร่กระจายไปกับน้ำหรือน้ำฝนแล้วเข้าทางบาดแผลรอยขีดข่วนบนใบหรือผล ระยะแรกจะมีสีเหลืองซ้ำแล้วแผลขยายใหญ่แล้วเป็นสะเก็ดฟูนูนคล้ายฟองน้ำแผลจะเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีน้ำตาลการระบาดพบบนกิ่ง ใบ และผล การป้องกันกำจัด โดยคัดกิ่งพันธุ์ที่ปราศจากโรคแคงเคอร์มาปลูก ตัดแต่งกิ่งใบหรือผลที่เป็นโรคเผาทำลาย ป้องกันโดยพ่น คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์  53.8% WG อัตรา 20-42 กรัม/น้ำ 20 ลิตร

4.) การเก็บเกี่ยว (กุมภาพันธ์-เมษายน)

เมื่อมะนาวมีอายุประมาณ 100-120 วันผลเริ่มแก่เก็บเกี่ยวได้สังเกตก้านขั้วจะมีสีเหลือง ผิวใสเปลือกบางเมื่อบีบดูจะรู้สึกนิ่มมือให้เก็บเกี่ยวไปจำหน่ายไม่ควรปล่อยให้มะนาวสุกแก่เกินไปเพราะมะนาวเปลือกบางบอบช้ำง่าย

ที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เอกสารอ้างอิง : มนู โป๊สมบูรณ์. (2557). คู่มือการผลิตผลไม้นอกฤดู. กรุงเทพฯ, ISBN : 978-616-358-038-2




บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ