บทความเกษตร » การเลี้ยงปลาดุก สำหรับมือใหม่

การเลี้ยงปลาดุก สำหรับมือใหม่

30 มกราคม 2023
6393   0

การเลี้ยงปลาดุก สำหรับมือใหม่

การเลี้ยงปลาดุก

การเลี้ยงปลาดุก


สวัสดีครับวันนี้จะพาพี่น้องมารู้จักกับ การเลี้ยงปลาดุก ในรูปแบบต่าง ๆ กันครับ สำหรับการเลี้ยงปลาดุกนั้นนอกจากจะเลี้ยงตามบ่อธรรมชาติที่เรารู้จักกันทั่วไปแล้วยังมีวิธีการเลี้ยงปลาดุกที่หลากหลาย อย่างเช่น การเลี้ยงปลาดุกในบ่อดิน, การเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก, การเลี้ยงปลาดุกในบ่อปูน, การเลี้ยงปลาดุกในโอ่ง, เป็นต้น เพราะว่าปลาดุกนั้นเป็นปลที่เลี้ยงง่ายและโตไวมาก เพราะมีนิสัยที่กินเเก่งมากๆครับ ว่าแล้วเราก็ไปดูการเลี้ยงปลาดุกันเลยครับว่ามีขั้นตอนและวิธีการเลี้ยงอย่างไรกันบ้าง




ทำความรู้จักสายพันธุ์ปลาดุก ก่อนลงมือเลี้ยง
ปลาดุกด้าน

  • ปลาดุกด้าน (Clarias batrachus )
    ปลาดุกด้าน (Walking catfish) เป็นปลาน้ำจืดในวงศ์ปลาดุก (Clariidae) มีรูปร่างค่อนข้างยาวเรียว ส่วนหางค่อนข้างแบน มีสีเทาปนดำ ส่วนท้องมีสีขาว สามารถเคลื่อนที่บนบกได้เป็นระยะทางสั้น ๆ โดยใช้ครีบ เรียกว่า “ปลาแถก” ขนาดเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 50 เซนติเมตร สามารถพบได้ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงจนลุ่มน้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ยังพบได้ในแถบคาบสมุทรมลายู, เกาะสุมาตรา, เกาะชวา, เกาะบอร์เนียว, ฟิลิปปินส์ และมีรายงานว่าพบในศรีลังกา, บังกลาเทศ, อินเดีย และพม่า ในประเทศไทยและประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ปลาดุกถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการเลี้ยงเพื่อนำมาทำเป็นอาหาร เช่น ปลาดุกย่าง, ปลาดุกฟู หรือปลาหยอง เป็นต้น
  • ปลาดุกอุย (Clarias macrocephalus)
    ปลาดุกอุย หรือ ปลาอั้วะชื้อ ในภาษาแต้จิ๋ว (อังกฤษ: Broadhead catfish, Günther’s walking catfish มีกระดูกท้ายทอยยื่นแหลมออกไปลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยม ลำตัวสั้นป้อมกว่าปลาดุกด้าน ซึ่งอยู่ในสกุลเดียว กัน ลำตัวมีสีดำปนเหลือง มีจุดขาวเล็ก ๆ เรียงเป็นแถวขวางลำตัวหลายแถว มีครีบหลังสูงกว่าปลาทั่วไปมาก สามารถเคลื่อนที่บนบกได้เป็นระยะทางสั้น ๆ โดยใช้ครีบช่วย พบได้ในพื้นที่แถบประเทศไทยไปจนถึงเวียดนาม และมีการนำไปเลี้ยงในประเทศจีน, มาเลเซีย, เกาะกวม และฟิลิปปินส์
    บางครั้งมีความเข้าใจผิดกันว่าปลาดุกอุยคือปลาดุกด้านตัวเมีย แต่ที่จริงเป็นปลาคนละชนิดกัน ปลาดุกอุยเป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวไทยและชาวลาวมากกว่า ปลาดุกด้าน เนื่องจากเนื้อมีรสชาติมัน อร่อย มีราคาที่สูงกว่าปลาดุกด้าน จึงได้มีการเพาะเลี้ยงและผสมเทียมในบ่อ แต่ปัจจุบันได้นำมาผสมกับปลาดุกเทศ เป็นปลาลูกผสม เรียกว่า “บิ๊กอุย” ทำให้โตเร็วและเลี้ยงง่ายกว่าปลาดุกอุยแท้ ๆ
  • ปลาดุกยักษ์, ปลาดุกรัสเชีย, ปลาดุกแอฟริกา (Clarias gariepinus)
    ปลาดุกรัสเซียเป็นสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ อาจจะใหญ่ถึง 9-10 กิโลกรัม จึงถูกเรียกว่า ปลาดุกยักษ์ ลักษณะลำตัวเรียวยาว หัวใหญ่และแบน กะโหลกเป็นตุ่ม ๆ ไม่เรียบ กระดูกท้ายทอยมีลักษณะเป็นหยัก 3 หยัก ตัวมีสีเทา ไม่มีจุดประตามลำตัว เมื่อโตขึ้นจะปรากฏลายคล้ายหินอ่อน มีอัตราการเจริญเติบโตเร็วมาก ต้านทานโรคและสภาพแวดล้อมสูง
    ปลาดุกลำพัน (Clarias nieuhofii)
  • ปลาดุกลำพัน (Clarias nieuhofii)
    ปลาดุกลำพันเป็นปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ดอยู่ในกลุ่มเดียวกับปลาดุกอุย หรือปลาดุกด้าน รูปร่างยาวเรียว ลำตัวด้านข้างแบนหัวเล็กสั้นทู่ มีหนวดยาว 4 คู่ อยู่บริเวณหน้านัยน์ตา 2 คู่ และใต้คาง 2 คู่ นัยน์ตาเล็ก ครีบหูเล็ก มีก้านครีบอันหน้าเป็นหนามแหลมที่เรียกกันว่า เงี่ยง ครีบท้องเล็กและอยู่ใกล้กับครีบก้นครีบหลังและครีบก้นยาวมีฐานติดกับครีบหาง ส่วนปลายแยกครีบหางเล็กปลายกลมมน สีของลำตัวค่อนข้างดำ และลักษณะสีของลำตัวจะเปลี่ยนไปตามอายุ ขนาด และสภาพแวดล้อมตัวโตเต็มวัยจะมีลำตัวสีเข้ม แต่เมื่อนำมาเลี้ยงในบ่อจะมีสีน้ำตาลเหลืองข้างลำตัวมีจุดสีขาวเรียงเป็นแถวตามขวางประมาณ 13 – 20 แถวยกเว้นบริเวณท้อง
  • ปลาดุกบิ๊กอุย
    ปลาดุกบิ๊กอุยเป็นปลาดุกลูกผสมระหว่างปลาดุกเทศกับปลาดุกอุย ดังนั้นลักษณะรูปร่างภายนอก และนิสัยการกินอาหารคล้ายกับปลาดุกอุยมาก มีผิวค่อนข้างเหลือง ลำตัวและหางจะเห็นลายจุดประสีขาวคล้ายของปลาดุกอุยชัดเจนมาก แต่เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จุดนี้จะหายไป ส่วนลักษณะรูปร่างและลำตัวบางส่วนที่คล้ายกับปลาดุกเทศ ได้แก่ กะโหลกท้ายทอย แหลมเป็นหยัก 3 หยัก หัวมีขนาดใหญ่และเป็นตะปุ่มตะป่ำไม่เรียบ คอดหางมีจุดประสีขาวเรียงตามขวางในระยะที่ปลายังเล็ก ซึ่งบางครั้งไม่อาจแยกได้ว่าเป็นปลาดุกบิ๊กอุยหรือปลาดุกเทศ ดังนั้นการจะดูให้รู้แน่ชัดจะต้องดูที่ลักษณะหัวปลาและลายขวางที่คอดหางเมื่อปลาอายุได้ 3 สัปดาห์ขึ้นไป




รูปแบบของการเลี้ยงปลาดุก

วิธีการเลี้ยงปลาดุกนั้นสามารถเลี้ยงได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความสะดวกและพื้นที่ของผู้เลี้ยงแต่ที่นิยมกันนั้นพอแบ่งออกได้เป็น 4 แบบ คร่าวๆ ดังนี้ครับ

1. การเลี้ยงปลาดุกในบ่อดิน

การเลี้ยงปลาดุกในบ่อดินเป็นวิธีที่นิยมเลี้ยงกันโดยทั่วไป เพราะปลาสามารถเจริญเติบโตได้ดี เนื่องจากในบ่อดินมีอาหารธรรมชาติสมบูรณ์ ลดค่าอาหารลงได้ อุณหภูมิของน้ำเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย และยังช่วยป้องกันไม่ให้ปลาเกิดบาดแผลตามลำตัวได้ง่าย อีกทั้งยังช่วยดูดซับของเสียจากตัวปลาได้ดีกว่าการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ ซึ่งประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตปลาดุกจะได้มาจากการเลี้ยงในบ่อดินทั้งสิ้น

การเตรียมบ่อดิน

  1. สำหรับบ่อใหม่นั้น ให้หว่านปูนขาวให้ทั่วบ่อ ในปริมาณ 80 – 120 กิโลกรัม/ไร่ แล้วตากบ่อไว้ 2 – 3 วัน
  2. กรณีบ่อเก่า ทำความสะอาดบ่อโดย ลอกเลน กำจัดวัชพืชในบ่อ และบริเวณโดยรอบ และกำจัดศัตรู ปลาในบ่อ โดยใช้โล่ติ๊น หรือกากชา ผสมน้ำสาดให้ทั่วบ่อ แล้วโรยปูนขาว 80-120 กิโลกรัม/ไร่ ตากบ่อไว้ 2 – 3 วัน
  3. แล้วทำการใส่ปุ๋ยเพื่อสร้างอาหารธรรมชาติ ซึ่งได้แก่
    • ปุ๋ยคอก 150 – 200 กิโลกรัม/ไร่
    • ปุ๋ยวิทยาศาสตร์เช่น ปุ๋ยนา (16-20-0) 4.5 กิโลกรัม/ไร่
    • ปุ๋ยยูเรีย (46 – 0 – 0) 2.5 กิโลกรัม/ไร่
  1. แล้วทำการปล่อยน้ำเข้าบ่อ 30 – 50 เซนติเมตร ทิ้งไว้ 5 – 7 วันน้ำจะเริ่มเขียว เมื่อน้ำเริ่มเขียวเพิ่มระดับน้ำให้ลึกประมาณ 0 – 1.5 เมตร หลังจากนั้น 3 – 5 วัน ก็นำปลามาปล่อยเลี้ยงตามอัตราที่เหมาะสม

ข้อดีและข้อเสียของการเลี้ยงปลาดุกในบ่อดิน

ข้อดี

  1. มีอาหารธรรมชาติ ช่วยลดต้นทุนได้
  2. ปลาเจริญเติบโตเร็ว อัตรารอดสูง

ข้อเสีย

  1. บ่อควรเป็นดินที่กักเก็บน้ำได้
  2. ค่า pH ควรอยู่ระหว่าง 6.5 – 9.5
  3. ต้องหมั่นกำจัดวัชพืช
  4. ควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เพื่อถ่ายน้ำได้สะดวก

2. การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์

การเลี้ยงปลาดุกในท่อปูนซีเมนต์เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ สามารถเลี้ยงกันได้ง่าย สำหรับสถานที่ก็ใช้พื้นที่ไม่เยอะ และสามารถเคลื่อน ย้ายท่อปูนซีเมนต์ได้ง่ายด้วย ค่าลงทุนในการการเลี้ยงก็ไม่มากสามารถนำไป ประกอบเป็นอาชีพเสริมได้และผลตอบแทนก็เป็นที่น่าภูมิใจ

เลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์
การเตรียมบ่อซีเมนต์

  1. บ่อซีเมนต์ใหม่ ต้องปรับสภาพบ่อก่อน โดยใส่น้ำให้เต็มบ่อ และใส่หยวกกล้วยสับลงไปด้วยแช่ทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ จึงล้างบ่อให้สะอาด แล้วตากบ่อให้แห้ง
  2. บ่อซีเมนต์เก่า ล้างทำความสะอาดด้วยน้ำด่างทับทิมสาดให้ทั่วบ่อ ตากบ่อให้แห้ง

ข้อดีและข้อเสียของการเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ (กลม)

ข้อดี

  1. ใช้พื้นที่น้อย และดูแลรักษาง่าย
  2. เลี้ยงเพื่อการบริโภคในครัวเรือน
  3. รวบรวมและจับปลาได้ง่าย

ข้อเสีย

  1. ปลาโตช้า ต้องทยอยจับ
  2. ต้องกำจัดฤทธิ์ของปูนให้หมดก่อน
  3. ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อย
  4. ต้องอยู่ในที่ร่ม มีหลังคา

ข้อดีข้อเสียของการเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ (เหลี่ยม)

ข้อดี

  1. ใช้เป็นบ่อเพาะพันธุ์ อนุบาลและเลี้ยงปลาได้
  2. ดูแลรักษา และทำความสะอาดง่าย
  3. รวบรวมและจับปลาได้ง่าย

ข้อเสีย

  1. ต้นทุนสูง
  2. ต้องกำจัดฤทธิ์ของปูนให้หมดก่อน
  3. ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อย และระวังน้ำเน่าเสีย
  4. ต้องอยู่ในที่ร่ม มีหลังคา



3. การเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก

สำหรับการเลี้ยงปลาในบ่อพลาสติก นั้นจะทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงนั้นสามารถประหยัดต้นทุนเรื่องค่าใช้จ่าย และที่สำคัญที่สุดไม่เสียพื้นที่ในการขุดบ่อปลา ใช้พื้นที่น้อยผสมผสานกับการเกษตรอย่างอื่นก็ได้ โดยรอบคันบ่อควรปลูกผักสวนครัวซึ่งการเลี้ยงปลาในบ่อพลาสติก และนอกจากเป็นการลดรายจ่ายซึ่งเป็นการใช้บริโภคในครัวเรือน แล้วยังเป็นการเพิ่มรายได้ด้วยการนำส่วนที่เหลือจากการบริโภคไปจำหน่ายซึ่งตลาดมีความต้องการสูงเนื่องจากเป็นธรรมชาติและปลอดสารพิษ

การเตรียมบ่อพลาสติก

  1. การจัดเตรียมบ่อ ขุดบ่อขนาดกว้าง 2 เมตร ลึก 1 เมตร ก้น 1 เมตร จัดทำขอบบ่อให้มีระดับเดียวกัน ปูผ้า พลาสติกสีดำกันน้ำซึม
  2. การปรับสภาพน้ำในบ่อปลาเปิดน้ำใส่บ่อจนเต็มจากนั้นใส่จุลินทรีย์ EM จำนวน 1 ลิตร ผสมกากน้ำตาล 1 กิโลกรัม แล้วทิ้งไว้ 5 – 7 วัน เพื่อปรับสภาพน้ำและลดการเน่าเสียของน้ำ ก็นำปลามาปล่อยเลี้ยงตามอัตราที่เหมาะสม

ข้อดีและข้อเสียของ การเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก

ข้อดี

  1. ใช้พื้นที่น้อย
  2. ใช้ได้ดีในพื้นที่ที่กักเก็บน้ำไม่อยู่
  3. เลี้ยงเพื่อการบริโภคในครัวเรือน

ข้อเสีย

  1. อาจเกิดรอยรั่วได้
  2. ปลาโตช้า และต้องทยอยจับ
  3. ต้องระมัดระวังเรื่องน้ำเน่าเสีย
  4. การเปลี่ยนถ่ายน้ำค่อนข้างยุ่งยาก

4. การเลี้ยงปลาดุกในกระชัง

การเตรียมพันธุ์ปลา

ควรเลือกลูกปลาที่มาจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นอันดับแรกส่วนการดูลูกปลานั้นให้เลือกที่มีความแข็งแรง ว่ายน้ำได้เร็ว ลำตัว หนวดครีบ หาง สมบูรณ์ ไม่ว่ายน้ำหงายท้องหรือ ตั้งฉากกับน้ำ

อัตราการปล่อย

ลูกปลาขนาด 2 – 3 ซม. ควรปล่อยในอัตรา 50 – 100 ตัว/ตารางเมตรขึ้นอยู่กับกรรมวิธีในการเลี้ยง คือ ชนิดอาหาร ขนาดของบ่อและ ระบบการเปลี่ยนถ่ายน้ำ ซึ่งโดยทั่วไปอัตราปล่อยเลี้ยงประมาณ 50 ตัว/ตารางเมตร

การปล่อยปลาลงบ่อเลี้ยง

ก่อนการปล่อยลูกปลาลงสู่บ่อควรเอาถุงปลาแช่น้ำในบ่อ 10-15 นาทีเพื่อเป็นการปรับอุณหภูมิให้เท่ากัน ป้องกันการน็อคน้ำของลูกปลาขนาดลูกปลาที่จะปล่อยควรมีขนาดเท่ากับนิ้วมือ ช่วยเพิ่มอัตราการรอดตายให้สูงมากขึ้น ปริมาณที่เหมาะสมในการเลี้ยงปลาอยู่ที่ 80,000-100,000 ตัวต่อไร่

การปล่อยปลานิยมปล่อยช่วงเช้า (ไม่เกิน 07.30 น.) แต่หากเป็นไปได้ควรปล่อยช่วงเย็น (17.30 น.) จะดีที่สุด เนื่องจากอากาศไม่ร้อน ลูกปลาจะปรับตัวได้ดี

การเลี้ยงและการให้อาหาร

  • เมื่อปล่อยลูกปลาวันแรกไม่ต้องให้อาหาร
  • วันต่อมาให้เป็นอาหารลูกปลาวัยอ่อน โดยให้ประมาณ 1 สัปดาห์
  • เมื่อลูกปลาโตพอกินอาหารเม็ดได้ก็เริ่มให้อาหารปลาดุกเล็กพิเศษ ให้กินจนลูกปลาอายุ 1 เดือน โดยให้วันละ 2 ครั้ง (เช้า-เย็น)
  • เมื่อลูกปลามีอายุ 2 เดือน จึงให้อาหารปลาดุกใหญ่ โดยให้วันละ 2 ครั้ง

เทคนิคและวิธีการให้อาหารปลา

  1. ให้ปลากินอาหารเป็นเวลาและให้ในเวลากลางวัน
  2. ตำแหน่งที่ให้อาหารทุกครั้งควรเป็นสถานที่เดิม
  3. มีแป้นหรือภาชนะรองรับอาหารเป็นที่ ๆ ในบ่อนั้นก่อนให้อาหารควรให้สัญญาณ เช่น การใช้มือหรือไม้ตีน้ำให้กระเทือน
  4. ปรับปริมาณอาหารที่ให้ทุก 1-2 สัปดาห์

การถ่ายเทน้ำ

เมื่อเริ่มเลี้ยงใหม่ๆ ควรมีระดับน้ำประมาณ 30-40 เซนติเมตรเมื่อลูกปลาเจริญเติบโตขึ้นในเดือนแรกเพิ่มระดับน้ำให้สูงประมาณ 50-60 เชนติเมตร หลังจากเข้าเดือนที่ 2 ควรเพิ่มระดับน้ำให้สูงขึ้น 10 เซนติเมตร/สัปดาห์ จนระดับน้ำในบ่อลึก 1.20 – 1.50 เมตร การถ่ายเทน้ำควรเริ่มตั้งแต่ประมาณ 1 เดือน โดยถ่ายประมาณ 20 % ของน้ำในบ่อ 3 วัน/ครั้ง หรือถ้าน้ำในบ่อเริ่มเสียจะต้องถ่ายน้ำมากกว่าปกติ

การเก็บเกี่ยวผลผลิต

เมื่อเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย 90 วัน จะได้ปลาขนาด 100-200 กรัมอัตราการรอดตายสูงถึง 80 % สามารถจับปลาเพื่อใช้ในการบริโภคหรือจำหน่ายได้

โรคปลาและการป้องกันรักษา

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค

  1. มีอินทรียวัตถุในบ่อมากเกินไป จากการใส่ปุ้ยหรือมีเศษอาหารทำให้สภาพของบ่อเหมาะแก่การเจริญแพร่พันธุ์ของเชื้อโรค
  2. บ่อไม่มีการถ่ายเทน้ำทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรค
  3. เลี้ยงปลาในบ่ออย่างหนาแน่น ทำให้ปลาเครียดและติดเชื้อง่าย

โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

โรคตัวด่าง

ปลาที่เป็นโรคนี้จะมีแผลด่างขาวตามลำตัว โรคนี้มักเกิดกับปลาหลังจากการย้ายบ่อการลำเลียงหรือขนส่งเพื่อนำไปเลี้ยง หรือในช่วงที่อุณหภูมิของอากาศมีการเปลี่ยนแปลงในรอบวันแรก ปลาที่ติดโรคนี้จะตายเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ภายใน 24 – 28 ชั่วโมง

การป้องกันและรักษา

วิธีที่ดีที่สุดที่ควรทำ คือ การปรับปรุงสภาพภายในบ่อให้เหมาะสมเช่น การเพิ่มออกชิเจน และการลดอินทรียสารในน้ำให้น้อยลง

  1. ใช้ด่างทับทิม จำนวน 1 – 3 กรัม/น้ำ 1,000 ลิตร แช่นาน 24 ชั่วโมง เพื่อการรักษา
  2. ใช้ฟอร์มาลิน จำนวน 40 – 50 ซีซี./น้ำ 1,000 ลิตร แช่นาน 24 ชั่วโมง




โรคแผลตามลำตัว

โรคแผลตามลำตัวนี้เกิดจาการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดที่ทำลายเม็ดเลือดแดง อาการในระยะเริ่มแรกของโรคนี้บริเวณติดเชื้อจะบวมและมีสีแดง ต่อมาผิวหลังจะเริ่มเปื่อยเป็นแผลลึกลงไปจนเห็นกล้ามเนื้อ โดยแผลที่เกิดจะกระจายทั่วตัว และเป็นสาเหตุให้ปลาติดโรคเชื้อราต่อไปได้

การป้องกันและรักษา

  1. ใช้ยาต้านจุลชีพ ชนิดซัลฟาไตรเมทโทรพริม ในอัตราส่วน 1 – 2 มิลลิกรัม/น้ำ 1 ลิตร แช่ปลานานประมาณ 2 – 3 วัน
  2. ใช้ยาต้านจุลชีพ ชนิดออกซี่เตตร้าซัยคลิน ในอัตราส่วน 10 – 30 มิลลิกรัม/น้ำ 1 ลิตร แช่นาน1 – 2 วัน ทำติดต่อกัน 3 – 4 ครั้ง
  3. การฆ่าเชื้อในบ่อเลี้ยง อาจทำได้โดยใช้ปูนขาวในอัตรา 50 – 60 กิโลกรัม/ไร่

โรคครีบ – หางกร่อน

เป็นโรคที่พบอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับปลาขนาดเล็กเกิดจากการติดเชื้อโรคหลายชนิดทั้งปรสิตและแบคทีเรีย ปลาป่วยระยะแรกจะเกิดการกร่อนบริเวณปลายครีบและครีบก่อนและค่อย ๆ ลามเข้าไปจนทำให้ดูเหมือนว่าครีบมีขนาดเล็กลง ในบางครั้งครีบจะกร่อนไปจนหมด

การป้องกันและรักษา

  1. ใช้ยาต้านจุลชีพ ชนิดซัลฟาไตรเมทโทรพริมในอัตราส่วน 1 – 2 มิลลิกรัม/น้ำ 1,000 ลิตรแช่ปลานานประมาณ 2 – 3 วัน
  2. การฆ่าเชื้อในบ่อเลี้ยง อาจทำได้โดยใช้ปูนขาวในอัตรา 50 – 60 กิโลกรัม/ไร่

โรคท้องบวม/โรคกกหูบวม

สาเหตุของโรคท้องบวมเกิดจาการติดเชื้อแบคที่เรีย แอร์โรโมแนส ไฮโดรฟิล่า อาการบวมของปลาที่เป็นโรคนี้มี 2 ลักษณะ คือ ลักษณะที่มีสาเหตุจากกระเพาะหรือลำไส้มีก๊าซมาก ส่วนอีกลักษณะมีเลือดปนน้ำเหลืองในช่องท้อง

การป้องกันและรักษา

  1. แช่ปลาในยาต้านจุลชีพ ชนิดออกขี่เตตร้าชัยคลิน หรือเตตร้าชัยคลิน ในอัตราส่วน10 – 30 มิลลิกรัม/น้ำ 1 ลิตร แช่นาน 1 – 2 วัน ทำติดต่อกัน 3 – 4 ครั้ง
  2. การฆ่าเชื้อในบ่อเลี้ยงปลา ควรใช้ปูนขาวโรยให้ทั่วบ่อหลังจากสูบน้ำออกแล้ว
  3. ไม่ควรเลี้ยงปลาในปริมาณที่แน่นจนเกินไป และควรให้อาหารอย่างเหมาะสม

 

โรคที่เกิดจากพยาธิภายนอก

โรคจุดขาวหรือโรคอิ๊ก

เกิดจากเชื้อโปรโตซัวจำพวกพยาธิเซลล์เดียวชนิดหนึ่ง มีรูปร่างกลมมี ขนาด 50 -100 ไมครอน มีขนรอบตัว มีนิวเคลียสรูปเกือกม้า เกาะตามตัวปลาและฝังเข้าไปใต้ผิวหนังเป็นจุดขาวๆ เมื่อปรสิตเจริญเต็มที่จะหลุดออกจากตัวปลาไปเกาะตามพื้น

ส่วนใหญ่จะพบในปลาวัยอ่อน ปลาจะขับเมือกออกมามาก มีสีผิวซีด ครีบเปื่อย ว่ายน้ำเชื่องช้า และมีอัตราการตายสูงมากภายในเวลา 2 – 3 วัน

การป้องกันและรักษา

  1. ใช้ฟอร์มาลีน ที่มีความเข้มข้น 25 มิลลิลิตร/น้ำ 1,000 ลิตร สาดให้ทั่วบ่อ รวมทั้งบ่อที่อยู่ใกล้กันหรือติดกันทุก 3 วันติดต่อกัน 3 ครั้ง
  2. แซ่ปลาในฟอร์มาลีน เข้มข้น 200 มิลลิลิตร/น้ำ 1,000 ลิตร นาน 1 ชั่วโมง จะได้ผลหลังให้ยาแล้ว 6 ชั่วโมง

โรคที่เกิดจากเห็บระฆัง

เกิดจากโปรโตชัวเกาะอยู่ตามผิวตัวและเหงือกของปลา ซึ่งสร้างความระคายเคืองให้กับตัวปลา และทำให้เป็นแผลตกเลือดขนาดเล็ก กระจายอยู่ตามผิวตัวปลา ในปลาที่เป็นมากจะมีครีบและผิวตัวเปื่อย ปลาจะมีอาการลอยหัว เหงือกซีด ผิวตัว ครีบและรอบปากเปื่อย มีแผลตกเลือดกระจายอยู่ตามลำตัว มีคราบขาวๆ เกาะตามผิวตัวปลา มักเกิดกับปลาวัยอ่อนหรือปลาที่เครียด ซึ่งทำให้เกิดการตายที่รุนแรง

การป้องกันและรักษา

  1. ใช้ฟอร์มาลีน ที่มีความเข้มข้น 25 มิลลิลิตร/น้ำ 1,000 ลิตรสาดให้ทั่วบ่อ รวมทั้งบ่อที่อยู่ใกล้กันหรือติดกันทุก 3 วันติดต่อกัน 3 ครั้ง หรือ
  2. แช่ปลาในฟอร์มาลีน เข้มข้น 200 มิลลิลิตร/น้ำ 1,000 ลิตร นาน 1 ชั่วโมง จะได้ผลหลังให้ยาแล้ว6 ชั่วโมง

การจัดการเมื่อปลาเกิดโรค

  1. ลดหรืองดให้อาหาร
  2. รักษาคุณภาพน้ำให้ดีอยู่เสมอ โดยเฉพาะปริมาณออกชิเจนที่ละลายในน้ำ (DO)
  3. เปลี่ยนถ่ายน้ำ เมื่อน้ำเน่เสีย มีกลิ่นเหม็น
  4. ใช้ยาหรือสารเคมีอย่างชาญฉลาด เท่าที่จำเป็นและมีเหตุผล พร้อมทั้งตระหนักอย่าเสมอว่ายาและสารเคมีมีราคาแพง ถ้าสัตว์น้ำป่วยมาก การใช้ยาและสารเคมีเป็นการซ้ำเติมให้ปลาตายเร็วขึ้น เลือกใช้ยาและสารเคมีให้ตรงกับสาเหตุ
  5. โรคที่มีสาเหตุจากแบคที่เรียที่ทำให้เกิดโรคภายในร่างกาย ต้องผสมยาปฏิชีวนะให้ปลากินแต่สิ่งที่สำคัญต้องเข้าใจว่า “สัตว์น้ำส่วนใหญ่เมื่อป่วยมากแล้วจะไม่กินอาหาร ดังนั้นการผสมยาในอาหารจะไม่ทำให้การรักษาได้ผล”
  6. ไม่ควรเคลื่อนย้ายสัตว์น้ำที่ปวยออกนอกพื้นที่ ควรเผาหรือฝังสัตว์น้ำที่ตาย ควรฆ่าเชื้อเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ปนเปื้อนเชื้อโรคด้วยยาฆ่าเชื้อโรค เช่น ด่างทับทิม
  7. ไม่ควรนำสัตว์น้ำที่ตายแล้ว หรือแช่แข็ง แช่เย็น ไปตรวจวินิจฉัยโรค ตัวอย่างสัตว์น้ำป่วยที่มีชีวิต

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ