การเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี แบบปล่อยอิสระ
การเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี หมายถึง การเลี้ยงไก่ที่ปล่อยให้ไก่ออกนอกโรงเรือนได้อย่างอิสระเพื่อให้ไก่สามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ ทำให้ไก่มีความสุขและอารมณ์ดี ซึ่งจะทำให้ไก่มีให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ การเลี้ยงไก่แบบนี้ต้องมีอาหารและน้ำให้กินอย่างเพียงพอ ซึ่งอาหารอาจเป็นอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารที่หาได้ตามธรรมชาติ ซึ่งการเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดีนี้จะเป็นการคำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ การเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดีจะทำให้ไข่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าไข่ที่ได้จากการเลี้ยงบนกรงตับ โดยมีวิตามินเอและวิตามินบีสูงกว่าถึงสองเท่า โอเมก้า-3 สูงกว่าถึง 4 เท่า
โรงเรือนสำหรับเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี ควรอยู่ห่างจากชุมชนเป็นที่ตอนน้ำท่วมไม่ถึง มีพื้นที่ปลูกหญ้าหรือพืชผักให้ไก่กินพื้นที่ปราศจากการใช้สารเคมีโรงเรือนและพื้นที่อิสระต้องแยกพื้นที่จากที่พักอาศัยชัดเจน โดยยึดหลักในพื้นที่โรงเรือนใช้พื้นที่ 0.5 ตารางเมตร ต่อไก่หนึ่งตัวพื้นที่ปล่อยอิสระมีหญ้าและพืชผักให้กินอย่างน้อย 5 ตารางเมตรต่อตัว พื้นโรงเรือนควรเป็นคอนกรีตมีวัสดุรองพื้นเช่นแกลบหรือฟางหนาอย่างน้อย 3-5 นิ้ว มีรังไข่ 1 รังต่อแม่ไก่ 4 ตัว มีประตูทางออกสองทางเพื่อหมุนเวียนปล่อยไก่ออกสู่แปลงปล่อยอิสระด้านนอก
สายพันธุ์ไก่ไข่
พันธุ์ไก่ที่เลี้ยงในเมืองไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
1. ไก่พันธุ์แท้ เป็นไก่ที่ได้รับการคัดเลือกและผสมพันธุ์เป็นอย่างดีมาอย่างต่อเนื่องของนักผสมพันธุ์จนลูกหลานในรุ่นต่อ ๆ มา มีลักษณะรูปร่าง ขนาด สีและอื่น ๆ เหมือนบรรพบุรุษหรือลักษณะประจำพันธุ์คงที่ เช่นพันธุ์โร้ดไอส์แลนด์เรด (Rhode Island Red), พันธุ์บาร์พลีมัทร็อค ( Barred Plymouth Rock), พันธุ์เล็กฮอร์นขาวหงอนจักร (Single Comb White Leghorn) เป็นต้น
2. ไก่พันธุ์ลูกผสม เป็นพันธุ์ไก่ไข่ที่ได้จากการนำไก่ไข่ตั้งแต่ 2 สายพันธุ์ ขึ้นไปมาผสมกันเป็นพิเศษ ให้ผลผลิตไข่สูงและมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด ไก่พันธุ์ไข่นี้เป็นที่นิยมเลี้ยงกันในเชิงการค้ามากที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นพันธุ์ไก่ที่ผสมขึ้นเป็นพิเศษ โดยบริษัทผู้ผลิตลูกไก่พันธุ์ไข่จำหน่ายได้มีการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ให้มีประสิทธิภาพในการให้ผลผลิตไข่สูงและมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด
การจัดการโรงเรือนและอุปกรณ์สำหรับ การเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี
1. โรงเรือน
การเลี้ยงไก่ไข่ถึงแม้ว่าจะเลี้ยงแบบปล่อยก็มีความจำเป็นต้องมีโรงเรือนและอุปกรณ์เพื่อบังแดด บังลมและฝน โรงเรือนไก่ไข่ต้องมีความแข็งแรง ทนทาน ป้องกันลม กันแดด กันฝนรวมถึงสัตว์อื่น ๆ เช่น นก แมว หนู และสุนัขได้ ทำความสะอาดง่าย อยู่ห่างจากชุมชนเพื่อป้องกันกลิ่นเหม็นรบกวน โครงสร้างควรเป็นคอนกรีต มีวัสดุรองพื้นคอก เช่น แกลบหนา 3-5 นิ้ว และ ควรมีรังไข่ 1 ช่อง ต่อแม่ไก่ 4 ตัว และประตูเข้า-ออก 2 ด้าน เพื่อหมุนเวียนปล่อยไก่ออกสู่แปลงอิสระ ทั้งนี้ หากมีโรงเรือนมากกว่า 1 หลัง แต่ละหลังควรเว้นระยะห่างกันมากกว่า 10 เมตร เพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวกและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ภายในโรงเรือนต้องมีอุปกรณ์ให้น้ำให้อาหาร
2. การให้อาหารและให้น้ำไก่ไข่
อาหารไก่ไข่มี 4 ชนิด คือ อาหารผสม หัวอาหาร อาหารอัดเม็ดหรืออาหารสำเร็จรูปและอาหารเสริม สำหรับการให้น้ำในไก่ไข่อายุ 5 เดือนขึ้นไป ควรให้น้ำประมาณครึ่งลิตรต่อวัน หากไก่ขาดน้ำในช่วงกำลังไข่ จะทำให้ไข่ฟองเล็ก น้ำที่ให้ควรเป็นน้ำสะอาด ไม่มีเชื้อโรคปนเปื้อนใส่ในกระบอกหรือถังให้ไก่กิน โดยไก่ไข่ที่อายุ 5 เดือนขึ้นไป ต้องการน้ำประมาณ 0.5 ลิตรต่อวัน หากขาดน้ำในช่วงที่กำลังไข่เพียง 3 -4 ชั่วโมง จะทำให้ไข่ฟองเล็ก น้ำสำหรับให้ไก่ไข่ควรเป็นน้ำสะอาด ส่วนเรื่องของอาหารนั้น ถ้าเป็นช่วงเริ่มให้ไข่จะเป็นอาหารที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีน 13-15% ซึ่งก็มีทั้งอาหารผสม หัวอาหาร อาหารอัดเม็ด หรืออาหารสำเร็จรูป และอาหารเสริม
3. วิธีเริ่มต้นเลี้ยงไก่ไข่
1. การเลี้ยงลูกไก่อายุ 1 วัน เป็นวิธีที่นิยมกันมากเนื่องจากทุนน้อย สามารถเลี้ยงไก่ได้ตลอดเวลาด้วยตัวเอง ดูแลเอาใจใส่ได้อย่างเต็มที่ ได้รู้ประวัติของไก่ทั้งฝูง
2. การเลี้ยงไก่รุ่นอายุ 2 เดือน เป็นวิธีที่นิยมกันในปัจจุบัน โดยการซื้อไก่รุ่นอายุ 6 สัปดาห์ – 2 เดือน มาจากฟาร์มหรี่อบริษัทที่รับเลี้ยงลูกไก่ ลูกไกในระยะนี้ราคายังไม่แพงมากนักและสามารถตัดปัญหาในเรื่องการเลี้ยงดูลูกไก่และการกกลูกไก่
3. การเลี้ยงไก่สาว การเลี้ยงดูไก่สาวจะใกล้เคียง กับการเลี้ยงดูไก่รุ่น ต้องควบคุมปริมาณอาหาร และน้ำหนักตัวไก่ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของไก่ไข่แต่ละสายพันธุ์ ควรจัดการดังนี้เมื่อไก่อายุ 15 สัปดาห์ เปลี่ยนอาหารจากไก่ไข่รุ่นเป็นไก่ไข่สาวไม่ควรให้กินอาหารแบบเต็มที่เพราะไก่มักจะกินเกินความต้องการทำให้มีน้ำหนักตัวมากเกินไป ไก่ให้ไข่เร็วแต่ไม่ทนและสิ้นเปลืองค่าอาหาร
4. การจัดการอาหารไก่ไข่
การจัดการไก่เล็ก ลูกไก่อายุแรกเกิดจนถึง 4 สัปดาห์ เป็นช่วงสำคัญที่สุดของการเลี้ยงไก่ไข่เล็ก ผู้เลี้ยงควรดูแลเอาใจใส่และหมั่นเติมอาหารให้ลูกไก่ได้รับอาหารตลอดเวลาเนื่องจากลูกไก่ยังเล็ก ร่างกายมีความอ่อนแอประกอบกับระบบอวัยวะภายในและระบบการสร้างภูมิคุ้มกันโรคกำลังเกิดการพัฒนาการสูง ดังนั้น ผู้เลี้ยงควรให้การดูแลจัดการเป็นพิเศษ โดยใช้วิธีโรยอาหารกระจายบนถาดใต้กก เพื่อการเจริญเติบโตที่ดี โครงสร้างใหญ่ มีขนาดสม่ำเสมอ มีรูปร่างทางสรีรวิทยาที่ดีและสุขภาพแข็งแรง
อาหารและน้ำสำหรับไก่ไข่อารมณ์ดี เมื่อนำไก่ไข่เข้ามาใหม่ควรให้กินอาหารสำเร็จรูปตามมาตรฐานอายุของไก่หลังจากไก่เริ่มปรับตัวได้แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนอาหารโดยค่อย ๆ เพิ่มเติมอาหารที่มีตามธรรรมชาติ เช่น มะละกอสุก ข้าวโพด กล้วยสุก ต้นกล้วย รำ พืชผักสวนครัวและสมุนไพรต่าง ๆ โดยนำมาผสมกับอาหารสำเร็จรูปหรือโยนให้กินอิสระและควรมีหญ้าให้ไก่ได้จิกกินตลอดเวลานอกจากนั้นต้องมีน้ำสอาดให้ไก่กินตลอดเวลา
โรคที่พบในไก่ไข่
การเลี้ยงไก่ให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงทำให้ไก่ไข่สามารถให้ผลผลิตสูง ต้องมีการวางระบบการป้องกันโรคที่ดี ในการเลี้ยงไก่ไข่มักมีโอกาสพบโรคที่สำคัญดังนี้
- โรคนิวคาสเซิล เป็นโรคระบาดไก่ที่ร้ายแรงที่สุด มีระบาดทั่วไป ถ้าเกิดขึ้นในฝูงใดมักจะทำให้ตายหมดเล้า ในไก่ใหญ่ทำให้ไข่ลด โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง การติดต่อของโรคเป็นไปรวดเร็วมาก
- โรคหลอดลมอักเสบติดต่อ เป็นโรคติดต่อทางระบบหายใจ เกิดได้กับไก่ทุกอายุ แต่ในลูกไก่เล็กจะติดโรคนี้ได้ง่ายกว่า และตายมากกว่าในไก่ใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง การแพร่ระบาดรวดเร็วมาก ไก่จะได้รับเชื้อโรคโดยการหายใจเอาเชื้อโรคที่ปลิวฟุ้งอยู่ในอากาศ หรือการกินเอาเชื้อโรคที่ปนอยู่ในอาหารหรือน้ำเข้าไป
- โรคอหิวาไก่ เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่พบได้ในไก่ เป็ด ห่าน และนกอีกหลายชนิดระบาดได้ทุกฤดูกาล เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ติดต่อได้หลายทาง
- โรคฝีดาษไก่ เป็นโรคระบาดที่พบได้มากในลูกไก่และไก่รุ่น นอกจากนี้นกพิราบก็เป็นโรคนี้ได้ ติดต่อได้รวดเร็วมาก มักจะทำให้ไก่ตายเป็นจำนวนมาก ตัวที่ไม่ตายจะแคระแกรน ไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร เกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อได้หลายทาง
- โรคหวัดติดต่อหรือหวัดหน้าบวม เป็นโรคทางเดินหายใจมักเกิดกับไก่รุ่นและไก่ใหญ่ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ปะปนอยู่ในเสมหะ น้ำมูก และน้ำตาของไก่ป่วย ไก่ที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการอย่างรวดเร็ว โดยมีอาการจาม มีน้ำตา น้ำมูกอยู่ในช่องจมูกและเปียกเปรอะถึงปาก และมีกลิ่นเหม็น เมื่อเป็นรุนแรง ตาจะแฉะจนปิด หน้าบวม เหนียงบวม ไก่กินอาหารน้อยลง ไก่ที่กำลังให้ไข่จะไข่ลด
ชนิดวัคซีนที่ใช้ในไก่ไข่
ชนิดของวัคชีนแบ่งออกได้ 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ
- วัคซีนเชื้อเป็น วัคซีนเชื้อเป็นสามารถให้ไก่ได้ทีละตัว โดยการหยอดตาหรือหยอดจมูก หรือให้ไก่เป็นกลุ่มโดยการละลายในน้ำดื่ม หรือการสเปรย์ ทำให้ประหยัดแรงงาน วัคซีนเชื้อเป็นสามารถถูกทำลายได้ง่ายโดยภูมิคุ้มกันที่ถ่ายทอดมาจากแม่แต่ให้ความคุ้มโรคสูง อาจทำให้สัตว์เกิดโรคได้ แต่การเก็บรักษายุ่งยากกว่าวัคซีนเชื้อตาย และมีราคาถูก
- วัคซีนเชื้อตาย เป็นวัคซีนที่มักเตรียมจากเชื้อที่ความรุนแรงที่ถูกทำให้ตายโดยทางเคมีหรือฟิสิกส์ จุลชีพเหล่านี้ไม่สามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จึงมีความปลอดภัยแต่ให้ความคุ้มโรคต่ำ วัคซีนเชื้อตายจะให้โดยวิธีการฉีดเท่านั้น สารที่ช้ผสมกับวัคนจะเป็นน้ำมันหรืออลูมินัมไฮดร็อกไซด์ สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันได้ดี วัคซีนเชื้อตายมีราคาแพงแต่เก็บรักษาง่าย
วิธีการทำวัคซีน
การทำวัคซีนไก่สามารถทำได้หลายวิธีทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนที่ใช้และชนิดของโรค
- การหยอดตาหรือหยอดจมูก เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ เพื่อป้องกันโรคที่เกิดขึ้นกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคนิวคาสเซิล และหลอดลมอักเสบ
- การแทงปีก เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ คือบริเวณใต้ผิวหนัง เช่น วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ เป็นวัคซีนที่มีความเข้มข้นมาก เนื่องจากใช้น้ำยาละลายวัคซีนเพียงเล็กน้อย และใช้เข็มจุ่มวัคซีนครั้งละ 0.01 ซี.ซี. โดยสังเกตุจากการที่วัคซีนเต็มรูเข็มทั้งสองข้าง แล้วแทงเข็มจากทางด้านล่างผ่านทะลุผนังของปีกไก่
- การฉีดเข้าใต้ผิวหนัง เป็นวิธีที่นิยมใช้ในการทำวัคซีนป้องกันโรคมาเร็กซ์ โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนังบริเวณท้ายทอยหรือฐานคอ ทำให้การสร้างภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ แต่ให้ผลในการคุ้มกันโรคนาน
- การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เป็นวิธีที่นิยมใช้กับวัคซีนชนิดเชื้อตาย ซึ่งจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อหน้าอก การฉีดเข้ากล้ามเนื้อจะกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันดีกว่าการหยอดตาและจมูก เพราะจะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันด้วยสารนำขึ้นในกระแสเลือดและเกิดการหมุนเวียนไปทั่วร่างกาย ทำให้ภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
- การละลายน้ำดื่ม เป็นวิธีที่ทำได้ง่าย ประหยัดแรงงาน และเหมาะสำหรับไก่จำนวนมาก ๆ แต่การสร้างภูมิคุ้มกันจะมีความผันแปรค่อนข้างมาก เนื่องจากไก่แต่ละตัวได้รับวัคซีนในปริมาณที่แตกต่างกัน
- การฉีดสเปรย์ เป็นวิธีที่นิยมมากสำหรับการทำวัคซีนครั้งแรกในลูกไก่อายุ 1 วัน เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อจากไวรัสในระบบะทางเดินหายใจ อาจสเปรย์ตั้งแต่ในโรงฟักหรือโรงเรือนที่เลี้ยง โดยสเปรย์ใส่ลูกไก่ที่อยู่ในกล่องเลย ลูกไก่จะได้รับวัคนผ่านทางลูกตาหรือจมูก เป็นวิธีที่ทำได้รวดเร็ว สามารถให้วัคซีนแก่ไก่จำนวนมาก ๆ ในระยะเวลาอันสั้น แต่ประมาณวัคซีนที่ได้รับอาจแตกต่างกันไป
เอกสารอ้างอิง
- กานดา ล้อแก้วมณี และชลัท ทรงบุญธรรม. 2560. การเลี้ยงไก่ไขของประเทศไทย (Poultryproduction in Thailand) . คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร. Available formhttp://eto.ku.ac.th/neweto/e-book/animal/Poultry.pdf
- Best Chicken Breeds for Egg Laying. Available formhttps://www.afrugalhomestead.com/2018/06/best-chicken-breeds-for-egg-laying.html
- Wikipedia. Chicken breeds. Available formhttps://en.wikipedia.org/wiki/Rhode_Island_Red
- NRC. 1994. Nutrient Requirements of Poultry. 9th. Academy Press. WashingtonDC, USA.
- นพวรรณ ไชยานุกูลกิตติ. การให้อาหารไก่ไข่ระยะต่างๆ. เอกสารเผยแพร่ กองอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์. กรุงเทพมหานคร.
- อุทัย คันโธ. 2529. อาหารและการผลิตอาหารเลี้ยงสุกรและสัตว์ปีก. ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการเลี้ยงสัตว์แห่งชาติ. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน. นครปฐม.
- ประภากร ธาราฉาย. 2560. การผลิตสัตว์ปีก. http:/www.as2.mju.ac.th/E-Book’t_ prapakorn สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565.
- .ยอดชาย ทองไทยนันท์. 2551. ความหลากหลายทางชีวภาพกับการผลิตปศุสัตว์ ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, กรมปศุสัตว์ กองบำรุงพันธุ์สัตว์ กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ