บทความเกษตร » ปุ๋ยหมักมูลแพะ ปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดีช่วยบำรุงดิน ประหยัดต้นทุน

ปุ๋ยหมักมูลแพะ ปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดีช่วยบำรุงดิน ประหยัดต้นทุน

30 สิงหาคม 2022
1724   0

ปุ๋ยหมักมูลแพะ ปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดีช่วยบำรุงดิน ประหยัดต้นทุน

ปุ๋ยหมักมูลแพะ

วันนี้เราจะมาพูดถึง “ ปุ๋ยหมักมูลแพะ ปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดีช่วยบำรุงดิน”  สำหรับเกษตรผู้ที่เลี้ยงแพะ นั้น ในประเทศไทยมีการเลี้ยงกันทั่วทุกภาค และเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจ เพราะเป็นสัตว์ที่ให้ลูกเร็ว โตเร็ว ลงทุนน้อย กินง่าย และขายได้ราคาดี มีตลาดรับซื้อที่แน่นอน เรียกได้่ามีแพะเยอะๆ พ่อค้ามารับถึงที่กันเลยที่เดียว อีกทั้งใช้พื้นที่ไม่มากในการเลี้ยง  ขณะเดียวกัน คุณค่าในตัวแพะตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้ทุกส่วน ทั้งเนื้อ นม หนัง และขน แล้วยังรวมถึงมูลแพะ หรือ ขี้แพะ ที่เป็นปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดี ที่เราจะมาพูดถึงกันในวันนี้ครับ



ทำความรู้จักกับ ปุ๋ยอินทรีย์ ?

ปุ๋ยอินทรีย์ คือ ปุ๋ยที่มีการย่อยสลายอินทรียวัตถุ (Organic matter) โดยวิธีการทางชีวเคมี โดยการนำอินทรียวัตถุที่เช่น ของเสียจากโรงงาน มูลวัว มูลไก่ มูลค้างคาว ซากต้นไม้ ใบไม้ กรดอะมิโน โดโลไมท์ แร่ธาตุต่าง ๆ นำมาบด และเติมจุลินทรีย์กลุ่มใช้ออกซิเจน (Aerobic Microorganisms) จากนั้นบ่มหมัก กลับกอง จนอินทรียวัตถุย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารต่าง ๆ ที่พืชต้องการ ซึ่งปุ๋ยอินทรีย์ที่ดีต้องมีส่วนประกอบของธาตุอาหารหลัก รอง เสริม อย่างครบถ้วน โดยปุ๋ยอินทรีย์สามารถทำได้หลายรูปแบบทั้ง เม็ด น้ำ และ ผง

ข้อดี ของ ปุ๋ยอินทรีย์

  1. มีอินทรียวัตถุ ธาตุอาหาร จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อดินและพืช ซึ่งในปุ๋ยเคมีไม่มี
  2. ไม่ทำให้หน้าดินเสีย ปรับสภาพดินให้เป็นกลาง
  3. เพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ในดินให้กับ ดิน พืช และสิ่งมีชีวิตที่มีประโยชน์
  4. ปรับสภาพโครงสร้างของดินให้มีความร่วนซุย โปร่ง อุ้มน้ำ และอ่อนลง

มาถึงขั้นตอนการทำ ปุ๋ยหมักมูลแพะ กันบ้าง

สำหรับวิธีการผลิตตลอดถึงการนำส่วนผสมมาใช้นั้น มีหลายวิธีด้วยกัน แต่ที่เหมาะสมสำหรับช่วงนี้ก็คือตำรับปุ๋ยหมักมูลแพะผสมแกลบ เนื่องจากหาได้ง่ายในท้องถิ่นกว่าวัสดุอื่น หากไม่มีแกลบ ก็ใช้เศษหญ้า ฟางข้าว ต้นข้าวโพด ซังข้าวโพด ต้นถั่ว เปลือกถั่ว ผักตบชวา ก็สามารถใช้ได้

ในการผสมจะประกอบด้วย

    • แกลบ 100  กิโลกรัม
    • มูลแพะสด  60 กิโลกรัม
    • สารเร่ง พด.1 จำนวน 1 ซอง หากลดปริมาณแกลบ หรือ ลดปริมาณมูลแพะก็ต้องลดสาร เร่ง พด.1 ตามอัตราส่วน

อย่างไรก็ตามหากเพิ่มปริมาณมูลแพะมากขึ้นจะทำให้ปุ๋ยหมักมี คุณภาพดีขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากมูลแพะเป็นแหล่งธาตุอาหารพืชที่สำคัญ โรงเรือนที่ใช้ทำปุ๋ยหมักก่อนทำควรล้างหรือกวาดพื้นให้สะอาด เพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ ที่ไม่ต้องการ เช่น พลาสติก เศษแก้ว โรงเรือนควรมีลักษณะโปร่ง  และป้องกันฝนและแดด  ถ้าไม่มีโรงเรือนก็สามารถทำปุ๋ยหมักบนพื้นธรรมดาได้โดยทำกลางแจ้งข้อดีของการทำปุ๋ยหมักในโรงเรือนคือ น้ำระเหยออกจากกองปุ๋ยหมักน้อยกว่า ช่วยประหยัดการรดน้ำให้กองปุ๋ย  และปุ๋ยมีคุณภาพดีกว่า เพราะธาตุอาหารไม่สูญเสียไปเนื่องจากการชะล้างของฝน

ขั้นตอนวิธีทำ

ให้นำแกลบที่เตรียมไว้ และ มูลแพะสด หรือแห้งก็ได้ พร้อมทั้งสารเร่ง พด.1 ในอัตราส่วน 100:60:1 ซอง ทำแกลบให้เป็นกองขนาด กว้าง 1.5 -2 เมตร ยาว 4-5 เมตร สูง 1 ฟุต รดน้ำลงบนกองแกลบทุกวันเป็นเวลาประมาณ 5 วัน ในระหว่างรดน้ำคลุกเคล้าให้แกลบดูดซับน้ำ ให้ฉ่ำน้ำทั่วทั้งกอง เพื่อให้แกลบอุ้มน้ำก่อน จากนั้นนำมูลแพะสดโรย บนกองแกลบให้ทั่วกอง แล้วคลุกเคล้าให้เข้า กัน และรดน้ำไปพร้อม ๆ กันด้วย เพื่อให้มูลแพะกับแกลบเข้ากัน และดูดซับน้ำดียิ่งขึ้น โดยรดน้ำจนกองปุ๋ยหมักมีความฉ่ำน้ำพอประมาณไม่ แห้งหรือแฉะจนเกินไป หรือมีความชื้นที่ 60 เปอร์เซ็นต์

จากนั้นใช้สาร พด. 1 จำนวน 1 ซอง โดยผสมกับน้ำสะอาดแล้วกวนให้เข้ากัน 2-3 นาที เพื่อกระตุ้นจุลินทรีย์ แล้วนำไปรดบนกองปุ๋ยหมักจนทั่วทั้งกอง ตามด้วยการรดน้ำให้ทั่วกองอีก ประมาณ 10–20 ลิตร

จากนั้นปล่อยกองปุ๋ยไว้โดยต้องมีผ้าพลาสติกคลุม เพราะแกลบไม่อุ้มน้ำ และระเหยน้ำได้เร็ว จึงต้องคลุมไว้เพื่อป้องกันแสงแดด และลดการระเหยน้ำของกองปุ๋ยหมัก กลับกองปุ๋ย ทุก ๆ 10 วัน โดยใช้จอบพลิกกองทีละข้าง เพื่อลดความร้อนในกองปุ๋ยลง อุณหภูมิภายในกองปุ๋ยที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 40 องศาเซลเซียส หากเกินจะทำให้เชื้อจุลินทรีย์ใน พด.1 ตาย

ที่เหมาะสมใน 2-3 วันแรก อุณหภูมิ ในกองปุ๋ยควรอยู่ที่ประมาณ 38-39 องศาเซลเซียส และเมื่อกลับกองปุ๋ยไปประมาณ 15  วัน อุณหภูมิภายในกองปุ๋ยจะค่อย ๆ ลดลง การ กลับกองปุ๋ยจะช่วยให้เชื้อจุลินทรีย์ได้อากาศช่วยย่อยสลาย




ประมาณ 3-5 เดือน กองปุ๋ยหมักจะเปื่อยยุ่ย และมีสีดำ  และมีต้นพืชเล็ก ๆ เจริญบนกองปุ๋ย ถึงตอนนี้ก็จะเป็นการแสดงว่าปุ๋ยหมักสมบูรณ์แล้ว นำไปใส่ในดินเพื่อบำรุงต้นพืชได้.

ข้อแนะนำ  ปุ๋ยมูลสัตว์ทุกชนิดไม่ควรใส่สดๆเลย ต้องหมักก่อนเผื่อให้ความร้อนจากการย่อยสลายหมดไป และระหว่างกระบวนการย่อยสลายจุลินทรีย์จะดึงธาตุอาหารจากดินมาด้วย อาจทำให้พืชขาดธาตุอาหาร


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ