เทคโนโลยีด้านการเกษตร » แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ ขั้นตอนชีวิตที่พอเพียงและเรียบง่าย

แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ ขั้นตอนชีวิตที่พอเพียงและเรียบง่าย

1 ตุลาคม 2022
1002   0

แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ ขั้นตอนชีวิตที่พอเพียงและเรียบง่าย

แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่


แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่

แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่  คือ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของ การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงที่เด่นชัดที่สุด ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรินี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่มักประสบปัญหาทั้งภัยธรรมชาติและปัจจัยภาย นอกที่มีผลกระทบต่อการทำการเกษตร ให้สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤต โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำได้โดยไม่เดือดร้อนและยากลำบากนัก
ความเสี่ยงที่เกษตรกร มักพบเป็นประจำ

การจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน

ให้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30:30:30:10: ซึ่งหมายถึง

พื้นที่ส่วนที่หนึ่ง ประมาณ 30% ให้ขุดสระเก็บกักน้ำ เพื่อใช้เก็บกักน้ำฝนในฤดูฝน และใช้เสริม การปลูกพืชในฤดูแล้ง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์น้ำและพืชต่างๆ

พื้นที่ส่วนที่สอง ประมาณ 30% ให้ปลูกข้าวในฤดูฝน เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันสำหรับ ครอบครัว ให้เพียงพอตลอดปี เพื่อตัดค่าใช้จ่ายและสามารถพึ่งตนเองได้

พื้นที่ส่วนที่สาม ประมาณ 30% ให้ปลูกผลไม้ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อใช้ เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่าย

พื้นที่ส่วนที่สี่ ประมาณ 10% เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ ถนนหนทาง และโรงเรือนอื่นๆ

หลักการและแนวทางสำคัญ

  1. เป็นระบบการผลิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในระดับที่ ประหยัดก่อน ทั้งนี้ชุมชนต้องมีความสามัคคีร่วมมือร่วมใจในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันทำนองเดียวกับ การ “ลงแขก” แบบดั้งเดิมเพื่อลดค่าใช้จ่าย
  2. เนื่องจากข้าวเป็นปัจจัยหลักที่ทุกครัวเรือนจะต้องบริโภค ดังนั้น จึงประมาณว่าครอบครัว หนึ่งทำนาประมาณ 5 ไร่ จะทำให้มีข้าวกินตลอดปีโดยไม่ต้องซื้อหาราคาแพง เพื่อยึดหลักพึ่งตนเองได้ อย่างมีอิสรภาพ
  3. ต้องมีน้ำเพื่อการเพาะปลูกสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้ง หรือระยะฝนทิ้งช่วงได้อย่างพอเพียง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกันที่ดินส่วนหนึ่งไว้ขุดสระน้ำ โดยมีหลักว่าต้องมีน้ำเพียงพอที่จะทำการเพาะปลูกได้ตลอดปี ทั้งนี้ ได้พระราชทานพระราชดำริเป็นแนวทางว่า ต้องมีน้ำ 1,000 ลูกบาศก์เมตร ต่อการเพาะปลูก 1 ไร่ โดย ประมาณ ฉะนั้น เมื่อทำนา 5 ไร่ ทำพืชไร่หรือไม้ผลอีก 5 ไร่ (รวมเป็น 10 ไร่) จะต้องมี น้ำ 10,000 ลูกบาศก์เมตร ต่อปี ดังนั้น หากตั้งสมมติฐานว่ามีพื้นที่ 15 ไร่ ก็สามารถกำหนดสูตรคร่าวๆ ว่า แต่ละแปลงประกอบด้วย
    • นา 5 ไร่ l พืชไร่พืชสวน 5 ไร่
    • สระน้ำ 3 ไร่ ลึก 4 เมตร มีความจุประมาณ 19,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่ เพียงพอที่จะสำรองไว้ใช้ยามฤดูแล้ง
    • ที่อยู่อาศัยและอื่นๆ 2 ไร่
      รวมทั้งหมด 15 ไร่
      แต่ทั้งนี้ ขนาดของสระเก็บกักน้ำขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศ และสภาพแวดล้อม ดังนี้

      • ถ้าเป็นพื้นที่ทำการเกษตรอาศัยน้ำฝน สระน้ำควรมีลักษณะเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำระเหย ได้มากเกินไปซึ่งจะทำให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี
      • ถ้าเป็นพื้นที่ทำการเกษตรในเขตชลประทาน สระน้ำอาจมีลักษณะลึกหรือตื้นและแคบ หรือกว้างก็ได้โดยพิจารณาตามความเหมาะสมเพราะสามารถมีน้ำมาเติมอยู่เรื่อยๆ

การมีสระเก็บกักน้ำนั้นเพื่อเกษตรกรได้มีน้ำใช้อย่างสม่ำเสมอทั้งปี(ทรงเรียกว่า Regulator หมายถึง การควบคุมให้ดีมีระบบน้ำหมุนเวียนใช้เพื่อการเกษตรได้โดยตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน หน้าแล้งและระยะฝนทิ้งช่วง แต่มิได้หมายความว่าเกษตรกรจะสามารถปลูกข้าวนาปรังเพราะหากน้ำในสระ เก็บกักน้ำไม่พอ ในกรณีมีเขื่อนอยู่บริเวณใกล้เคียง ก็อาจจะต้องสูบน้ำมาจากเขื่อน ซึ่งจะทำให้น้ำในเขื่อน หมดได้แต่เกษตรกรควรทำนาในหน้าฝน และเมื่อถึงฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วงให้เกษตรกรใช้น้ำที่ได้เก็บตุนนั้น ให้เกิดประโยชน์ทางการเกษตรอย่างสูงสุด โดยพิจารณาปลูกพืชให้เหมาะสมกับฤดูกาล เช่น

    • หน้าฝน จะมีน้ำมากพอที่จะปลูกข้าวและพืชชนิดอื่นๆ ได้
    • หน้าแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ควรปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย เช่น ถั่วต่างๆ
  1. การจัดแบ่งแปลงที่ดินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคำนวณ และคำนึงจากอัตราการถือครองที่ดินถัวเฉลี่ยครัวเรือนละ 15 ไร่ อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรมีพื้นที่ถือครอง น้อยกว่า หรือมากกว่านี้ก็สามารถใช้อัตราส่วน 30:30:30:10 ไปเป็นเกณฑ์ปรับใช้ได้ กล่าวคือ
    • 30% ส่วนแรก ขุดสระน้ำ (สามารถเลี้ยงปลา ปลูกพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักกระเฉด ฯลฯ ได้ ด้วย) และบนสระอาจจะสร้างเล้าไก่ได้ด้วย
    • 30% ส่วนที่สอง ทำนา
    • 30% ส่วนที่สาม ปลูกพืชไร่ พืชสวน (ไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ใช้สอย ไม้เพื่อเป็นเชื้อฟืน ไม้สร้างบ้าน พืชไร่ พืชผัก สมุนไพร เป็นต้น)
    • 10% สุดท้าย เป็นที่อยู่อาศัยและอื่นๆ (ถนนคันดิน กองฟาง กองปุ๋ยหมัก โรงเรือน โรงเพาะเห็ด คอกสัตว์ ไม้ดอก ไม้ประดับ พืชผักสวนครัวหลังบ้าน เป็นต้น)

อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวเป็นสูตรหรือหลักการโดยประมาณเท่านั้น สามารถปรับปรุง เปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม โดยขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่ดิน ปริมาณน้ำฝนและสภาพแวดล้อม เช่น ในกรณีภาคใต้ที่มีฝนตกชุกกว่าภาคอื่น หรือพื้นที่ใดมีแหล่งน้ำมาเติมสระได้ต่อเนื่อง ก็อาจลดขนาดของ บ่อหรือสระน้ำให้เล็กลงเพื่อเก็บพื้นที่ไว้ใช้ประโยชน์อื่นต่อไปได

ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า

     หลักการดังกล่าวมาแล้วเป็นทฤษฎีใหม่ขั้นที่หนึ่ง เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการและได้ลงมือ ปฏิบัติตามขั้นที่หนึ่งในที่ดินของตนจนได้ผลแล้ว เกษตรกรก็จะสามารถพัฒนาตนเองไปสู่ขั้นพออยู่พอกิน และตัดค่าใช้จ่ายลงเกือบหมดมีอิสระจากสภาพปัจจัยภายนอกและเพื่อให้มีผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงควรที่จะ ต้องดำเนินการตามขั้นที่สองและขั้นที่สามต่อไปตามลำดับดังนี้

ทฤษฎีใหม่ขั้นที่สอง

เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการและได้ปฏิบัติในที่ดินของตนจนได้ผลแล้ว ก็ต้องเริ่มขั้นที่สอง คือให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ ร่วมแรง ร่วมใจกันดำเนินการในด้านต่างๆ ดังนี้

  1. การผลิต (พันธุ์พืช เตรียมดิน ชลประทาน ฯลฯ)
    • เกษตรกรจะต้องร่วมมือในการผลิต โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นเตรียมดิน การหาพันธุ์พืช ปุ๋ย การจัดหาน้ำและอื่นๆ เพื่อการเพาะปลูก
  1. การตลาด (ลานตากข้าว ยุ้ง เครื่องสีข้าว การจำหน่ายผลผลิต)
    • เมื่อมีผลผลิตแล้ว จะต้องเตรียมการต่างๆ เพื่อการขายผลผลิตให้ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น การเตรียมลานตากข้าวร่วมกัน การจัดหายุ้งรวบรวมข้าว เตรียมหาเครื่องสีข้าว ตลอดจนการรวมกัน ขายผลผลิตให้ได้ราคาดี และลดค่าใช้จ่ายลงด้วย
  1. การเป็นอยู่ (กะปิ น้ำปลา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ)
    • ในขณะเดียวกันเกษตรกรต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีพอสมควร โดยมีปัจจัยพื้นฐานใน การดำรงชีวิต เช่น อาหารการกินต่างๆ กะปิ น้ำปลา เสื้อผ้า ที่พอเพียง
  1. สวัสดิการ (สาธารณสุข เงินกู้)
    • แต่ละชุมชนควรมีสวัสดิภาพและบริการที่จำเป็น เช่น มีสถานีอนามัยเมื่อยามป่วยไข้ หรือมีกองทุนไว้กู้ยืมเพื่อประโยชน์ในกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน
  1. การศึกษา (โรงเรียน ทุนการศึกษา)
    • ชุมชนควรมีบทบาทในการส่งเสริมการศึกษา เช่น มีกองทุนเพื่อการศึกษาเล่าเรียน ให้แก่ เยาวชนของชุมชนเอง
  1. สังคมและศาสนา
    • ชุมชนควรเป็นที่รวมในการพัฒนาสังคมและจิตใจ โดยมีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยว
    • กิจกรรมทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่า ส่วนราชการองค์กรเอกชน ตลอดจนสมาชิกในชุมชนนั้นเป็นสำคัญ

ทฤษฎีใหม่ขั้นที่สาม

 เมื่อดำเนินการผ่านพ้นขั้นที่สอง เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรก็ควรพัฒนาก้าวหน้าไปสู่ขั้นที่สาม ต่อไป คือ ติดต่อประสานงานเพื่อจัดหาทุน หรือแหล่งเงิน เช่น ธนาคารหรือบริษัท ห้างร้านเอกชน มาช่วย ในการลงทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิต

ทั้งนี้ ทั้งฝ่ายเกษตรกรและฝ่ายธนาคารหรือบริษัทเอกชนจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน กล่าวคือ

  • เกษตรกรขายข้าวได้ในราคาสูง (ไม่ถูกกดราคา)
  • ธนาคารหรือบริษัทเอกชนสามารถซื้อข้าวบริโภคในราคาต่ำ (ซื้อข้าวเปลือกตรงจาก เกษตรกรและมาสีเอง)
  • เกษตรกรซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคได้ในราคาต่ำเพราะรวมกันซื้อเป็นจำนวนมาก (เป็นร้านสหกรณ์ราคาขายส่ง)
  • ธนาคารหรือบริษัทเอกชน จะสามารถกระจายบุคลากร เพื่อไปดำเนินในกิจกรรมต่างๆ ให้เกิดผลดียิ่งขึ้น

ประโยชน์ของ แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่

จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานในโอกาสต่างๆ นั้น พอจะ สรุปถึงประโยชน์ของทฤษฎีใหม่ได้ ดังนี้

  1. ให้ประชาชนพออยู่พอกินสมควรแก่อัตภาพในระดับที่ประหยัด ไม่อดอยาก และเลี้ยงตนเอง ได้ตามหลักปรัชญาของ เศรษฐกิจพอเพียง”
  2. ในหน้าแล้งมีน้ำน้อย ก็สามารถเอาน้ำที่เก็บไว้ในสระมาปลูกพืชผักต่างๆ ที่ใช้น้ำน้อยได้ โดยไม่ ต้องเบียดเบียนชลประทาน
  3. ในปีที่ฝนตกตามฤดูกาลโดยมีน้ำดีตลอดปี ทฤษฎีใหม่นี้ก็สามารถสร้างรายได้ให้ร่ำรวยขึ้นได้
  4. ในกรณีที่เกิดอุทกภัยก็สามารถที่จะฟื้นตัวและช่วยตัวเองได้ในระดับหนึ่ง โดยทางราชการ ไม่ต้องช่วยเหลือมากเกินไป อันเป็นการประหยัดงบประมาณด้วย

ข้อสำคัญที่ควรพิจารณา

  • การดำเนินการตามทฤษฎีใหม่นั้น มีปัจจัยประกอบหลายประการ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ในแต่ละท้องถิ่น ฉะนั้นเกษตรกรควรขอรับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ด้วย
  • การขุดสระน้ำนั้น จะต้องสามารถเก็บกักน้ำได้เพราะสภาพดินในแต่ละท้องถิ่นแตกต่างกัน เช่น ดินร่วน ดินทราย ซึ่งเป็นดินที่ไม่สามารถอุ้มน้ำได้ หรือเป็นดินเปรี้ยว ดินเค็ม ซึ่งอาจจะไม่เหมาะสมกับ พืชที่ปลูกได้ฉะนั้น จะต้องพิจารณาให้ดีและควรขอรับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่พัฒนาที่ดินหรือเจ้าหน้าที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน
  • ขนาดของพื้นที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคำนวณและคำนึงจากอัตราการถือครอง ที่ดินถัวเฉลี่ยครัวเรือนละ 15 ไร่ แต่ให้พึงเข้าใจว่าอัตราส่วนเฉลี่ยขนาดพื้นที่นี้มิใช่หลักตายตัว หากพื้นที่การ ถือครองของเกษตรกรจะมีน้อยกว่า หรือมากกว่านี้ก็สามารถนำอัตราส่วนนี้(30:30:30:10) ไปปรับใช้ได้ โดยถือเกณฑ์เฉลี่ย
  • การปลูกพืชหลายชนิด เช่น ข้าวซึ่งเป็นพืชหลัก ไม้ผล พืชผัก พืชไร่ และพืชสมุนไพร อีกทั้ง ยังมีการเลี้ยงปลา หรือสัตว์อื่นๆ ซึ่งเกษตรกรสามารถนำมาบริโภคได้ตลอดทั้งปี เป็นการลดค่าใช้จ่ายในส่วน ของอาหารสำหรับครอบครัวได้ และส่วนที่เหลือสามารถจำหน่ายได้เป็นรายได้แก่ครอบครัวได้อีก
  • ความร่วมมือร่วมใจของชุมชนจะเป็นกำลังสำคัญในการปฏิบัติตามหลักทฤษฎีใหม่ เช่น การลงแรงช่วยเหลือกันหรือที่เรียกว่าการลงแขก นอกจากจะทำให้เกิดความสามัคคีในชุมชนแล้ว ยังเป็นการ ลดค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานได้อีกด้วย
  • ในระหว่างการขุดสระน้ำ จะมีดินที่ถูกขุดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก หน้าดินซึ่งเป็นดินดีควรนำไป กองไว้ต่างหากเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชต่างๆ ในภายหลัง โดยนำมาเกลี่ยคลุมดินชั้นล่าง ที่เป็นดินไม่ดี ซึ่งอาจนำมาถมทำขอบสระน้ำหรือยกร่องสำหรับปลูกไม้ผล

ที่มา : หนังสือ“120 อาชีพเกษตรกรรมทางเลือก”  กองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืน  สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , www.opsmoac.go.th


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ