โคกหนองนาโมเดล คืออะไร หลายๆ คนยังไม่เข้าใจในความหมายที่แท้จริง โดย คนรักษ์ป่า
โคกหนองนาคืออะไร
โคกหนองนาโมเดล หมายถึงอะไร องค์ประกอบและประโยชน์ที่จะได้รับ
ปฏิเสธไม่ได้สำหรับแวดวงการเกษตรคงเคยได้ยินกับคำว่า “โคกหนองนาโมเดล” แต่กระนั้นคงมีหลายคนที่ เพิ่งก้าวเข้ามาสู่การประกอบอาชีพเกษตรกรหรือจะเป็นเกษตรกรมือใหม่ที่เกิดความสงสัยและอยากรู้ว่ารูปแบบการทำการเกษตรแบบนี้คืออะไร มีองค์ประกอบอย่างไร แล้วถ้านำมาใช้งานจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง เอาเป็นว่าบทความนี้พร้อมให้ทุกคนไปร่วมศึกษารายละเอียดอย่างลึกซึ้ง เพื่อการนำไปใช้งานที่ตอบโจทย์
โคกหนองนาโมเดล คืออะไร?
โคกหนองนาโมเดล คือ การพัฒนาจัดการพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งเป็นการผสมผสานของเกษตรทฤษฏีใหม่ร่วมกับภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทยที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งต้องบอกว่าชื่อเรียกนี้ เป็นการจัดการสภาพแวดล้อมที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ โดยมนุษย์นำสิ่งที่มีอยู่นั้นมาส่งเสริมทำให้เกิดความสำเร็จในการทำเกษตรกรรมโดยเร็ว และเป็นระบบมากขึ้น ทั้งนี้ แต่ละคำของชื่อเรียกยังหมายถึงแนวทางการทำเกษตรแบบอินทรีย์ และการสร้างชีวิตที่มีความยั่งยืนอย่างที่สุด
โคกหนองนาโมเดล มีองค์ประกอบอย่างไร?
อย่างที่เราได้บอกไปว่าแต่ละคำของชื่อ เป็นแนวทางการทำการเกษตรอินทรีย์ และการสร้างวิถีชีวิตที่มีความยั่งยืนอย่างที่สุด ถามว่า โคกหนองนาโมเดล มีองค์ประกอบอย่างไร?
-
โคก หรือ “พื้นที่สูง”
เป็นดินที่ถูกมนุษย์ขุดขึ้นมาจากการทำหนองน้ำ แล้วนำดินนั้นมาทำเป็นโคก บนโคกจะปลูกป่าโดยทำเป็นป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง สามารถปลูกพืช ผัก ผักสวนครัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ หรือเลี้ยงปลา โดยจะทำให้การเป็นอยู่ของเกษตรกรเป็นแบบพอกินพอใช้ หรือตามแนวทางขั้นพื้นฐานแบบเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งปกติแล้วได้มีการจำแนกการปลูกพืชตามแนวความสูงออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่
- ไม้หัวใต้ดิน อย่าง ขิง ข่า บุก มันมือเสือ กวาวเครือ ฯลฯ
- ไม้เรี่ยดิน อย่าง ไม้เลื้อยต่าง ๆ ไม่ว่าจะ รางจืด พริกไทย ฯลฯ
- ไม้เตี้ย ซึ่งเป็นไม้พุ่มเตี้ยที่ไม่ได้มีความสูงมากอยู่ใต้ไม้สูง และไม้กลางอย่าง มะเขือ พริก ติ้ว เหรียง ผักหวานบ้าน ฯลฯ
- ไม้กลาง โดยจะเป็นต้นไม้ที่ไม่ได้สูงมาก ส่วนใหญ่เป็นไม้ผลที่สามารถเก็บกินได้ อย่าง มังคุด มะม่วง กระท้อน ขนุน สะตอ ไผ่ ฯลฯ
- ไม้สูง จะเป็นไม้เรือนยอดสูงที่มีอายุยืนนาน อย่าง ยางนา ตะเคียน เต็ง รัง ฯลฯ
และเมื่อถามถึงวิธีการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง อันที่จริงก็ไม่ได้ยุ่งยาก โดยเริ่มต้นจากการนำไม้ที่โตไวอย่าง แค มะรุม ไม้ผล สะเดา กล้วย อ้อย รวมถึงพืชผักที่มีอายุสั้นมาปลูก เพื่อเป็นแหล่งสร้างอาหารให้กับคนในครอบครัว
หลังจากนั้น 1 – 2 ปี ก็เริ่มปลูกไม้ที่ใช้ในการก่อสร้างที่อยู่อาศัย เมื่อเติบโตจนมีร่มเงาให้พื้นที่ ก็ค่อยไปเริ่มปลูกบรรดาพืชสมุนไทย และในส่วนของพื้นที่ทำนาควรมีขนาดที่เหมาะสม สามารถปลูกข้าวได้ในปริมาณเพียงพอต่อการกินภายในครัวเรือน ไม่ต้องไปซื้อให้เสียเงิน ต่อด้วยการขุดบ่อน้ำ ร่องน้ำเล็ก เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นของชั้นดิน เลี้ยงปลาไว้เป็นอาหาร เมื่อปลูกป่า 3 อย่าง ก็นำมาใช้ทำประโยชน์ 4 อย่างได้ คือ ใช้ทำที่อยู่ ใช้เป็นเครื่องดื่มสมุนไพร ใช้เป็นเครื่องมือหัตถกรรม ใช้เป็นร่มเงา สร้างความเย็นสบายแก่ตัวบ้าน
-
หนอง หรือ “หนองน้ำหรือแหล่งน้ำ”
หนองที่จะพูดถึงนี้ คือ การขุดหนองเอาไว้เพื่อกักเก็บน้ำที่มีความจำเป็นช่วงหน้าแล้ง ช่วงที่มีน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วม หรือเป็นหลุมที่เอาไว้รับน้ำที่จะมาท่วมขัง (หลุมขนมครก) โดยการขุดปกติแล้วจะเรียกว่าคลองไส้ไก่ หรือคลองที่ใช้ระบายน้ำซึ่งเป็นพื้นที่ตามภูมิปัญญาแบบชาวบ้าน
การขุดจะมีลักษณะคดเคี้ยวออกไปตามพื้นที่ เพื่อเป็นการกระจายน้ำให้เต็ม ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ลดพลังงานไม่ต้องไปรดน้ำต้นไม้ นอกจากนี้ ยังมีการทำเป็นฝายเอาไว้ทดน้ำ เพื่อให้สามารถเอาไปกักเก็บน้ำไว้ภายในพื้นที่นั้น ๆ ให้ได้มากที่สุด
เมื่อพื้นที่ที่อยู่โดยรอบไม่ได้มีการกักเก็บน้ำ น้ำก็จะไหลหลากลงมาภายในหนองน้ำ รวมถึงคลองไส้ไก่ ช่วยให้สามารถใช้ฝายกักเก็บไว้ใช้ยามหน้าแล้งได้ ทั้งยังมีการพัฒนาพื้นที่ อย่างการขุดลองหนอง คู คลอง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง และระบายออกเมื่อน้ำไหลหลาก
-
นา
สุดท้ายคือนา ถือเป็นพื้นที่ให้ปลูกข้าวอินทรีย์ตามแบบฉบับพื้นบ้าน ซึ่งจะมีการเริ่มต้นมากจากการพัฒนาฟื้นฟูที่ดิน อย่างการเลือกทำการเกษตรแบบอินทรีย์ยั่งยืน เพื่อคืนสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่เรียกว่าจุลินทรีย์กลับไปยังผืนดิน ช่วยควบคุมปริมาณน้ำที่มีอยู่ภายในนาให้สมบูรณ์ คุมหญ้าโตกำลังดี ปลอดสารเคมี ไม่เป็นอันตรายทั้งคนที่ปลูก รวมถึงคนที่กินด้วย นอกจากนี้ ยังมีการยกคันนา ให้มีความสูงและกว้าง เป็นการเปิดพื้นที่รับน้ำได้ ไม่เป็นภัยเมื่อมีน้ำไหลหลากมาท่วม สามารถปลูกพืชได้ตามคันนา
ประโยชน์ของโคกหนองนาโมเดล
ประโยชน์ของโคกหนองนาโมเดล คือ ช่วยให้เราประหยัดมากขึ้น เพราะสามารถปลูกพืชต่าง ๆ ไว้ในพื้นที่และสามารถใช้สอยได้ครอบคลุมทุกปัจจัย ช่วยลดความตึงเครียดด้านเศรษฐกิจ ลดความกังวลเรื่องรายรับในช่วงที่ติดขัดต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญยังไม่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม หรือความแห้งแล้งภายในพื้นที่
และทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อมูลต่าง ๆ ของโคกหนองนาโมเดล ที่น่าสนใจอย่างมาก ที่จะช่วยให้เกษตรกรทุกคนได้รับประโยชน์อย่างที่สุด ใครยังไม่เคยลองนำไปปฏิบัติ จะนำไปทำดูก็สามารถทำได้เลยทันที รับรองว่าผลลัพธ์มีค่าแบบที่ไม่เคยคิดมาก่อน
สรุปเข้าใจง่ายๆ
โคกหนองนา คือการจัดการบริหารน้ำครับ ขุดดินเพื่อสร้างสระกักเก็บน้ำ ดินที่ขุดมันเหลือก็ทำโคก หัวใจของการทำเกษตรคือน้ำ สร้างสระเพื่อกักเก็บน้ำฝนเอาไว้ใช้งาน โดยไม่หวังเพิ่งแต่ชนประทาน และเขื่อน โดยการสร้างที่เก็บน้ำเอง ใช้เอง คือการเพิ่งพาตนเอง หลายที่ไม่ได้มีแหล่งน้ำจากเขื่อนเอาไว้ใช้ ต้องรอแต่น้ำฝนที่ตกลงมาเท่านั่น และหลายพื้นที่เองก็ไม่สามารถเก็บน้ำเอาไว้ได้ เจาะแต่บาดาลใช้ แต่ไม่เข้าใจว่าน้ำบาดาลมาจากไหน เราใช้บ่อยขึ้น มากขึ้น แน่นอนมันต้องหมดไป มันจึงเกิดโคกหนองนา เพื่อจะดักน้ำฝนเอาไว้ใช้ แทนที่จะปล่อยน้ำผ่านไป และเพิ่งแต่น้ำใต้ดินที่มองไม่เห็น แต่มันเกิดการเข้าใจผิดกัน หลงประเด็นโคกหนองนาไปไกล ขุดกันที 10-20 ไร่ ซึ่งจริงๆทำแค่ 2-3 ไร่ก็เพียงพอแล้ว ไปเน้นขุดสวยๆงามๆแต่กลับใช้งานจริงๆไม่ได้ ช่วงนี้กระแสมาแรง เกิดความโลภ อยากทำอะไรทำทีเยอะๆ ปลูกต้นไม้ราคาแพงๆ ใครบอกดี ปั่นกระแสะก็ปลูกตามๆกัน สุดท้ายก็กลับไปจุดเดิม จุดที่ไม่สามารถเพิ่งพาตนเองได้ คนหลงทางไปไกล ห่างความจริงมากขึ้น ห่างจากจุดประสงค์มากขึ้น ความหมายเลยถูกเปลี่ยน ถูกตีความไปแบบที่ไม่เข้าใจ ”โคกหนองนา คือการจัดการบริหารน้ำและพื้นที่เพื่อการเพิ่งพาตนเอง”
อ้างอิงแหล่งที่มา: https://www.arda.or.th/, คนรักษ์ป่า
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ