การทำ EM Ball เพื่อบำบัดน้ำเสีย
EM Ball สามารถนำมาใช้บำบัดน้ำเสียได้ เพื่อลดกลิ่นจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด หรือกำจัดโคลนตมใต้ผิวน้ำ และถ้ามีส่วนผสมของปุ๋ยหมักโบกาชิสามารถใช้เป็นอาหารปลาในน้ำเพราะ EM Ball จะทำให้เกิดแพลงตอนในน้ำ
การใช้งาน EM Ball นั้นมีข้อดี คือ การที่จะไม่ไหลไปตามน้ำ และทำให้การย่อยสลายเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เก็บได้นาน แต่หากต้องการรวดเร็วใช้เลย และไม่ต้องการบ่มให้เสียเวลา การเลือกใช้น้ำ EM ราดเลยก็ใช้การได้ ซึ่งเหมาะสำหรับใช้ในตัวบ้าน หลังน้ำลด เพื่อใช้ราดลงตามท่อระบายน้ำต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยลดกลิ่นเหม็นเน่าลงได้สะดวก รวดเร็วกว่า
ส่วนผสม EM Ball เพื่อบำบัดน้ำเสีย
- ดินทรายที่ร่อนละเอียด 1 ส่วน
- รำละเอียด 2 ส่วน
- รำหยาบ 2 ส่วน
- EM + กากน้ำตาล + น้ำ (อัตราส่วน 1:1:200)
วิธีทำ
- ผสมรำหยาบ+ดินคลุกให้เข้ากัน แล้วนำ EM + กากน้ำตาล + น้ำ รด คลุกให้ทั่ว ความชื้น 50% (ใช้มือกำส่วนผสมบีบให้แน่นหากมีน้ำไหลตามง่ามมือแสดงว่าน้ำมากไป ให้เติมส่วนผสมอีก หากเป็นก้อนยุ้ย ๆ นั้นพอดี)
- เมื่อความชื้นพอเหมาะแล้วนำรำละเอียดเข้าผสม ปั้นเป็นลูกเปตอง หรือตามต้องการเก็บไว้ในที่ร่มอย่างน้อย 24 ชั่วโมง หรือจนกว่าจะแห้ง สามารถนำไปใช้ได้
- สังเกตดูว่ามีราขาวขึ้นแสดงว่าใช้ได้เลย ถ้ามีราเขียวขึ้นไม่แนะนำให้นำไปใช้ เพราะว่ามีจุลินทรีย์ที่ไม่พึงประสงค์ให้นำไปจุ่มใน EM อีกครั้งและใช้ได้ทันที
- เมื่อนำก้อนอีเอ็มบอลไปใช้เพื่อการบำบัดน้ำเสีย หลังจากผ่านไปเป็นเวลา 1 สัปดาห์กลิ่นน้ำที่เคยเน่าเสียจะเริ่มดีขึ้น
- ส่วนประกอบของรำละเอียดเป็นอาหารของจุลินทรีย์ และสัตว์น้ำ ส่วนประกอบของรำหยาบ หรือแกลบป่นมีคุณสมบัติในการรักษาอุณหภูมิของลูก EM Ball ให้คงที่
การนำไปใช้
- ต้องมีปริมาณที่เหมาะสมในการใช้งาน เช่น ในบ่อน้ำที่มีน้ำนิ่ง ก็จะอยู่ที่ EM Ball 1 ก้อน ต่อ 1 เดือน ต่อ น้ำไม่เกิน 5-10 ลบ.ม.
- สมมุติว่า น้ำท่วมภายในเขตรั้วบ้าน เป็นนิ่ง สูงหนึ่งเมตร พื้นที่ภายในรั้วบ้านกว้าง 5 เมตร ยาว 10 เมตร ก็จะเท่ากับปริมาณน้ำ 50 ลบ.ม. ซึ่งก็ใช้ EM Ball ประมาณ 5-10 ลูก ระดับน้ำ ไม่ควรเกิน 3 เมตร
- แต่ถ้าจะโยนลงถนนหน้าบ้าน หรืออย่าง ถนนวิภาวดีนั้น จะต้องใช้เยอะมาก ๆ ดังนั้นถ้าจะใช้กับพื้นที่ถนนหน้าบ้านท่านใด ก็ควรดูประกอบครับว่า น้ำไหลแรงแค่ไหน ถ้าไม่ค่อยไหล นิ่ง ๆ ก็สามารถทดลองใช้ได้แต่ให้เพิ่มจำนวนให้เยอะหน่อยเท่านั้น
- ดังนั้นในพื้นที่ที่มีน้ำไหล สามารถเลือกใช้วิธีการอื่น เช่น การเติมอากาศจะดีกว่า (ดังเช่นที่ การประปา เลือกที่จะใช้การเติมอากาศลงสู่คลองประปา แทนนั่นเอง)
- สามารถใช้ร่วมกับ EM ขยาย โดยนำมาใช้ฉีดพ่น 1 ลิตร ต่อน้ำ 10 ลูกบาศก์เมตร (1 : 10,000)
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ