วิธีการเพาะเลี้ยงกบในบ่อดิน ประหยัดต้นทุน กบโตไว
วิธีการเพาะเลี้ยงกบในบ่อดิน
- เพาะครั้งแรก ไม่ประสบความสำเร็จ
- เพาะครั้งที่สอง จึงประสบความสำเร็จ ได้ลูกอ๊อดมาหนึ่งคอก ประมาณ 100 ตัว เลี้ยงไป ๆ มา ๆ จนลูกอ๊อดกลายเป็นกบที่รอดตายจริง ๆ เพียงแค่ 10 ตัวเอง
- เพาะครั้งที่สาม จึงได้มาศึกษาการเพาะลูกอ๊อด และอนุบาลลูกอ๊อด ครั้งนี้ผมได้ลูกอ๊อดมาประมาณ หนึ่งคอกเช่นกัน แล้วก็ได้ทดลองอนุบาลจนลูกอ๊อดมีขางอกออกมา และกลายเป็นลูกกบ ประมาณ 1,000 กว่าตัว ครั้งนี้ดีใจมากที่เพาะลูกอ๊อดได้สำเร็จ
วิธีการเพาะเลี้ยงกบในบ่อดิน
ข้อดีของการเลี้ยงกบในบ่อดิน
- เลี้ยงในบริเวณบ้าน หรือมีพื้นที่ทุ่งไร่ ทุ่งนาได้ดี
- ลงทุนต่ำ กว่าเลี้ยงในบ่อปูน และแบบกระชัง
- ไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อยๆ
- ไม่เปลืองอาหารมากนัก เพราะกบยังหาอาหารตามธรรมชาติกินได้
- เป็นการเลี้ยงเชิงพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก ไม่ต้องดูแลอะไรมากมาย ผู้เลี้ยงมีเวลาทำงานอย่างอื่นๆได้มาก
- กรณีถ้าระบบน้ำดีๆกบจะไม่ค่อยเป็นโรค และแข็งแรงดี
- เป็นการเลี้ยงเชิงพาณิชย์ได้อย่างเหมาะสม และคุ้มค่าที่สุดอีกแบบหนึ่ง
ข้อเสียของการเลี้ยงกบในบ่อดิน
- หากผู้เลี้ยงมีอายุมาก จะเสี่ยงต่อการลื่นล้มเป็นอัมพาฒ หรือเป็นลมแดด จมน้ำเสียชีวิตได้ เพราะอาจต้องใช้สะพานเดินลงไปให้อาหารภายในบ่อ(ถ้าบ่อใหญ่ๆ)
- ยากต่อการสังเกตและดูแลกบที่เป็นโรค เพราะอยู่กันกระจัดกระจาย ทั่วไป
- ยากต่อการให้อาหารอย่างทั่วถึง และกบมักจะมีพยาธิ ต้องให้ยาถ่ายพยาธิเดือนละ 1 ครั้ง
- ถ้าทำที่กั้นบ่อไม่ดี กบอาจจะหนีไปได้ง่ายโดยไม่รู้ตัว
- ยากต่อการตรวจนับจำนวนกบที่เหลือชีวิตรอดในบ่อดิน
- ยากต่อการจับขายหรือคัดขนาดที่ตัวโตๆขายไปก่อน เพราะส่วนใหญ่ต้องจับพร้อมๆกันทั้งบ่อ โดยสูบน้ำออกให้หมดก่อน
- ถ้าเลิกเลี้ยงจะต้องซื้อดินมาถมบ่อ เพื่อนำพื้นที่ไปทำอย่างอื่น สิ้นเปลืองมากๆ
- ตาข่าย
- ผ้ายางล
- ลวด
- ครีมตัดลวด
ขั้นตอนการทำบ่อเพาะเลี้ยงกบ
- ขุดบ่อขนาด 1.50 x 2.00 เมตร ความลึกตรงกลางของบ่อ ประมาณ 15 เซนติเมตร
- ขอบบ่อปรับพื้นดินให้มีความลาดเอียง
- นำผ้ายางมาปู แล้วนำดินมากลบขอบผ้ายางให้มิดชิด
- นำตาข่ายมาล้อมรอบบ่อ เพื่อป้องกันศัตรูกบ
- นำหญ้ามาปลูก เพื่อให้ดูเป็นธรรมชาติที่สุด เพื่อให้พ่อแม่พันธุ์ขึ้นไปหลบซ่อนตัวได้
- ต่อท่อน้ำติดสปริงเกอร์ เพื่อทำเป็นฝนเทียม
การผสมพันธุ์กบ
ส่วนมากกบจะทำการผสมพันธุ์ และวางไข่หลังจากฝนตก เมื่อเลือกกบ ที่มีลักษณะดีแล้วให้นำมาปล่อยในบ่อผสมพันธุ์ในอัตราตัวผู้ 5 ตัวต่อตัวเมีย 10 ตัว (ตัวผู้กับตัวเมียมีขนาดเท่ากัน) ระดับน้ำในบ่อลึกประมาณ 10-15 เซนติเมตร ภายในบ่อ ใส่พวกหญ้าไปด้วยพอประมาณ รักษาระดับน้ำให้คงที่ตลอดเวลา ในช่วงนี้งดให้ อาหารประมาณ 2-3 วัน ถ้ายังไม่มีฝนตกให้เปลี่ยนน้ำใหม่และอาจพ่นน้ำในบ่อผสมพันธุ์ ไห้เหมือนกับฝนตก หลังจากนั้นกบก็จะผสมพันธุ์และวางไข่ในเวลาเช้ามืด
สิ่งที่ควรคำนึงและเตรียมตัวก่อนเลี้ยงกบ
ต้องศึกษาหาความรู้เบื้องต้นในการเลี้ยงกบจากฟาร์มกบโดยตรงหรือผู้ที่เลี้ยง กบอยู่แล้ว อย่าอาศัยแค่อ่านจากเว็ปหรือหนังสือ เพราะการปฏิบัติจริงต้องละเอียดอ่อนมาก ๆ
- เริ่มตั้งแต่การดูแลบ่อพัก พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ และการให้อาหาร
- เปลี่ยนถ่ายน้ำในบ่อเลี้ยงทุก 2 วัน
- ทำความสะอาดบริเวณที่ให้อาหารก่อนการให้อาหารทุกครั้ง เนื่องจากบริเวณที่เราให้อาหาร จะมีเศษอาหารที่กบกินไม่หมด เก็บทำความสะอาดออกไป
- ต้องคอยสังเกตด้วยว่ามีกบตัวไหนที่กินอาหารไม่ทันเพื่อน ให้จับแยกไปไว้บ่อใหม่เลยครับ เพราะถ้าไม่แยกจะทำให้การเจริญเติบโตของกบช้า
วันที่ 9 ส.ค. 2554 วันนี้บ่อเพาะลูกอ๊อดของผมทั้ง 3 บ่อ ฟักเป็นตัวแล้วครับ
การอนุบาลและการให้อาหาร
- หลังจากที่ลูกกบฟักเป็นตัวอีกประมาณ 2 วัน เราค่อยให้อาหาร
- สัปดาห์ที่ 1 ให้กินไข่แดงไปก่อน วันละ 1 ครั้ง
- เปลี่ยนถ่ายน้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง การเปลี่ยนน้ำให้เอาน้ำในบ่อออกประมาณ 2 ใน 3 ของน้ำที่มีในบ่อ หลังจากนั้นใำห้เพิ่มน้ำเข้าไปให้ได้ระดับเดิม (หรืออาจจะเปลี่ยนน้ำเมื่อสังเกตเห็นว่าน้ำเริ่มเน่าเสียแล้ว)
- สัปดาห์ที่ 2 ให้กินไข่แดงตอนเช้า ตอนเย็น ให้หัวอาหารกบเบอร์เล็กสุด บดให้เป็นผง แล้วโรยให้ทั่วบ่อ
สังเกต ด้วยว่า หากอาหารในบ่อยังเหลือ ตอนเย็นก็ไม่ต้องให้อาหารเพิ่ม เพราะจะทำให้น้ำเน่าเสีย - เปลี่ยนถ่ายน้ำเมื่อสังเกตเห็นว่าน้ำเริ่มเน่าเสียแล้ว
- สัปดาห์ที่ 3 ให้เฉพาะหัวอาหาร บดให้แตก แต่ไม่ต้องให้แตกละเอียดมาก วันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น
- สัปดาห์ที่ 4 เมื่อสังเกตเห็นว่า ลูกอ๊อดมีขางอกออกมาแล้วก็สามารถจับจำหน่ายได้
ผ่านมา 10 วันแล้วครับ ลูกกบเริ่มโตแล้วครับ ผมจะให้อาหารลูกกบตอนเช้า โดยการให้หัวอาหาร บุให้แตก แล้วโรยให้ทั่วบ่อ ทุก ๆ วันก่อนการให้อาหาร ให้สังเกตดูด้วยว่าอาหารที่ให้ไปนั้น ลูกกบกินหมดหรือยัง ถ้ายังเราอาจจะไม่ให้เพิ่ม หรือให้เพิ่มก็เพียงเล็กน้อย เพื่อที่น้ำในบ่อจะได้ไม่เน่าเสีย และต้องคอยเพิ่มปริมาณน้ำทุก ๆ 2 วัน
การอนุบาลลูกอ๊อดให้เป็นกบ
คัดแยกลูกอ๊อดที่มีขางอกออกมาครบทั้ง 4 ขาแล้ว ออกจากบ่อลูกอ๊อด นำไปลงบ่ออนุบาลลูกกบ เพื่อป้องกันการกัดกินกันของลูกอ๊อด ลูกอ๊อดจะรอดตายเป็นลูกกบให้เราก็ช่วงนี้แหละครับ เราต้องคอยคัดแยกลูกอ๊อดทุก 2-3 วันครับ
การเลี้ยงกบในบ่อดิน จากการที่ลองผิดลองถูกมาหลายครั้ง จนมาถึงวันนี้ สามารถเพาะเลี้ยงกบได้ประสบผลสำเร็จ ตอนนี้ผมมีบ่อเพาะลูกอ๊อด 2 บ่อ บ่อคัดแยกลูกอ๊อด 4 บ่อ บ่อขุน 2 บ่อ และบ่อเก็บพ่อพันธุ์อีก 2 บ่อ
การเลี้ยงกบ ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่ลองทำจริง ๆ แล้ว ยุ่งยาก เพราะต้องดูแลเอาใจใส่อย่างดี ผลตอบแทนจากการเลี้ยงกบที่ผ่านมา
ราคาขายกบในช่วงหน้าฝน
ตอนนี้กบที่เลี้ยงไว้ น้ำหนักอยู่ที่ 7 – 8 ตัว/กิโลกรัม
- ราคาขายส่ง กิโลกรัมละ 60 – 70 บาท
- ราคาขายปลีก กิโลกรัมละ 80 – 100 บาท
ราคาขายกบนอกฤดูกาล
- ราคาขายส่ง กิโลกรัมละ 70 – 80 บาท
- ราคาขายปลีก กิโลกรัม 100 บาทขึ้นไป
ราคาขายลูกอ๊อด
- ราคาขายส่ง กิโลกรัม 140 – 150 บาท
- ราคาขายปลีก กิโลกรัม 180 – 200 บาท
ราคาขายลูกกบ ที่ตัดหางแล้ว
- ลูกกบ อายุ 1 เดือน ตัวละ 1 บาท
- ลูกกบ อายุ 45 วัน – 2 เดือน ตัวละ 2-3 บาท
อัตราการรอดตายของลูกกบ 80-90% การเลี้ยงกบ ควรทดลองเลี้ยงลูกอ๊อดให้โตเป็นกบก่อน แล้วจะรู้ว่าปัญหาของการเลี้ยงลูกอ๊อดให้รอดตายได้ ก่อนที่จะโตเป็นกบต้องทำยังไงบ้าง เลี้ยงไป ศึกษาการเจริญเติบโตของลูกกบ ปัญหาการกัดกินกันของลูกกบ ปัญหาการตายของลูกกบ เกิดจากอะไร ในการเลี้ยงกบในบ่อดิน สำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาดูแล แนะนำให้มุงหลังคาด้วยตาข่าย เพื่อป้องกันนก กา ฯลฯ เข้ามากินกบ
ปัญหาการเลี้ยงกบในบ่อดิน
ศัตรูกบ
- งู แอบเข้าไปกินกบในนา ซึ่งป้องกันลำบาก
- นก แอบเข้ามาหากินกบในนา เพราะไม่มีตาข่ายล้อม
- หนู แอบเข้ามากัดตาข่ายที่ล้อมไว้ ทำให้กบหลบหนีออกไปข้างนอกได้
การดูแลความสะอาดของน้ำในบ่อ
- การดูแลน้ำในบ่อไม่ดีพอ เกิดแก๊สแอมโมเนีย ทำให้สุขภาพจิตของกบไม่ดี
วิธีแก้ไข เปลี่ยนถ่ายน้ำเมื่อเห็นว่าน้ำเริ่มเสียแล้ว - สิ่งที่ตามมาคือ กบเกิดเป็นแผล เกิดโรคขาแดง ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียในน้ำ ทำให้กบตาย อาจตายยกบ่อได้
วิธีแก้ไข ย้ายกบออกจากบ่อที่ติดเชื้อ และคัดแยกกบที่ติดเชื้อออกจากบ่อ แล้วทำความสะบ่อ โดยการตากบ่อให้แห้ง แล้วโรยปูนขาวลงไปในบ่อทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ - กบกัดกินกันเอง เกิดจากการเลี้ยงกบแน่นเกินไป และให้อาหารกบกินไม่ทั่วถึง ทำให้กบกันกันเอง
วิธีแก้ไข ต้องคัดแยกกบตัวที่โตออกจากบ่อยายไปอยู่บ่อใหม่ให้มีขนาดเท่า ๆ กัน เพื่อป้องกันกบกัดกินกัน และให้อาหารกบกินอย่างทั่วถึง
การเพิ่มมูลค่าโดยการแปรรูป
“อั่วกบ” อาหารพื้นบ้านจานนี้ ผมทดลองทำดู ส่วนประกอบ ก็จะมี
- กบ 1 กิโลกรัม
- เนื้อกบครึ่งกิโลกรัม
- เนื้อหมูครึ่งกิโลกรัม
- วุ้นเส้น 4 ขีด
- ใบแมงลัก
- พริกแกง
- พริกขี้หนู
- ตะไคร้
- ใบมะกรูดหั่นฝอย
- เกลือ
ขั้นตอนต่อไป
- ชำแหละ กบ ลอกหนัง ตัดหัวตัดเท้า ควักเครื่องในออก ล้างน้ำให้สะอาดแล้วพักให้สะเด็ดน้ำ
- ส่วนเนื้อกบและเนื้อหมูสับรวมกันให้ละเอียด เตรียมไว้เป็นไส้
- จากนั้นนำ ตะไคร้ ใบมะกรูด ใบแมงลัก พริกสด พริกแกง เกลือ ผสมใส่ครกโขลกหยาบๆ
- ตักส่วนผสมคลุกเคล้ากับหมูบด กบสับ และ วุ้นเส้นให้เข้ากัน
ยัดส่วน ผสมที่ได้ทั้งหมด ใส่ตัวกบให้แน่นจนพองโต แล้วนึ่งประมาณ 10 นาทีให้เครื่องข้างในสุก ใส่น้ำมันลงกระทะพอร้อน นำกบที่นึ่งแล้วลงไปทอดอีกครั้ง จนกบยัดไส้สุกเหลืองหอม