โรคกรดไหลย้อน กับสมุนไพรแก้กรดไหนย้อน
โรคกรดไหลย้อน คืออะไร
โรคกรดไหลย้อน หรือ GERD (Gastro-Esophageal Reflux Disease) คือ ภาวะที่เกิดจากน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจเป็นกรด หรือ ด่างก็ได้ ไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหาร น้ำย่อยเหล่านี้อาจทำให้เกิดการระคายเคืองของหลอดอาหาร จนทำให้เกิดอาการ หรือ ภาวะแทรกซ้อนที่รบกวนคุณภาพชีวิต
อาการที่พบบ่อย
อาการที่พบบ่อยของโรคกรดไหลย้อนมี 4 อาการหลักๆ รวมถึงอาการอื่นๆที่อาจคาดไม่ถึง
- แสบร้อนบริเวณกลางหน้าอก มักเกิดอาการหลังรับประทานอาหาร ซึ่งอาจมีอาการแย่ลงในเวลากลางคืน
- เรอเปรี้ยว หรือ รับรสเปรี้ยว รสขมในปากและลำคอ
- สำรอกน้ำย่อย หรือเศษอาหารขึ้นมาในปากและลำคอ
- อาการอื่นๆ เช่น คลื่นไส้ รู้สึกจุกแน่นในลำคอ กลืนลำบาก หรือเจ็บแน่นหน้าอกโดยไม่ได้มีสาเหตุจากโรคหัวใจและโรคในระบบอื่นๆ
- ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน ยังอาจพบอาการผิดปกติในระบบอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่ ไอเรื้อรัง กล่องเสียงอักเสบ เสียงแหบ กระตุ้นให้อาการหอบหืดแย่ลง ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง ซึ่งสามารถรักษาด้วยตนเองได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือ การทานยาสามัญ ที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อ หรือร้านขายยาทั่วไป ตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรง
- หรือมีอาการสัญญาณเตือนของโรคร้ายแรงอื่นๆ ที่มีอาการคล้อยโรคกรดไหลย้อน เช่น มะเร็ง ควรรีบปรึกษาแพทย์
เมื่อไหร่ต้องไปปรึกษาแพทย์
ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอก โดยเฉพาะในกรณีที่มีอาการเหนื่อย หอบ หายใจลำบาก หรือมีอาการเจ็บหน้าอกร้าวมา ที่กรามหรือแขน อาการเหล่านี้อาจเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ควรรีบพบแพทย์ทันที
ในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการอื่นๆ ของโรคกรดไหลย้อนที่มีอาการรุนแรง เป็นซ้ำอยู่บ่อยๆ หรือรับประทานยามานานเกิน 2 สัปดาห์แต่อาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการสัญญาณเตือน เช่น อาเจียนมีเลือดปน กลืนอาหารลำบาก หรือกลืนแล้วเจ็บคอน้ำหนักลด คลำได้ก้อนที่บริเวณลำคอ ควรรีบไปพบแพทย์
แนวทางการรักษาโรคกรดไหลย้อนเบื้องต้น การรักษาเบื้องต้น แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
การรักษาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตประจำวัน ได้แก่ หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นอาการ เช่น อาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันสูง ชากาแฟ งดดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนนอน พยายามลดน้ำหนักถ้าน้ำหนักเกิน และ หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่คับ หรือรัดแน่นโดยเฉพาะบริเวณรอบเอว การรักษาด้วยยา ควรใช้ยาเพื่อการรักษาโรคกรดไหลย้อนภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร
ยาที่แพทย์นิยมใช้ในการรักษาโรคกรดไหลย้อน แบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
ยากลุ่ม อัลจีเนต มีทั้งชนิดเม็ด และ ชนิดน้ำ ออกฤทธิ์ในการลดกรดและสร้างชั้นเจล เพื่อลดการไหลย้อนของกรดเกินในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ยายังออกฤทธิ์เร็วในการบรรเทาอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอกได้ดีกว่ายากลุ่มอื่นๆ และยังสามารถใช้ได้กับแม่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร ด้วยประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการและความปลอดภัยจึงอาจใช้เป็นยาในการรักษาเบื้องต้นแก่ผู้ป่วย
อย่างไรก็ตามเนื่องจากยากลุ่มนี้ไม่ได้ออกฤทธิ์โดยตรงในการยับยั้งการหลั่งกรด จึงอาจมีประสิทธิภาพที่ไม่เพียงพอที่จะใช้เป็นยาชนิดเดียวในการรักษากรณีที่ผู้ป่วยมีอาการกรดไหลย้อนที่รุนแรง เช่น ผู้ป่วยที่มีหลอดอาหารอักเสบร่วมด้วย
ยากลุ่ม proton-pump inhibitor เป็นยาชนิดเม็ดออกฤทธิ์โดยตรงในการยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้ยามีประสิทธิภาพในลดกรดได้ดีกว่ายากลุ่ม อัลจีเนต แต่การใช้ยาในกลุ่มนี้ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากยาอาจส่งผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยในระยะยาวได้ นอกจากนี้ไม่แนะนำให้ใช้เป็นยารักษาโรคกรดไหลย้อนตัวแรกกับแม่ตั้งครรภ์
อาการที่พบบ่อยของโรคกรดไหลย้อน
อาการแสบร้อนกลางอก รู้สึกเปรี้ยวหรือรับรสขมในปาก และลำคอ อาจมีอาการคลื่นไส้เรอบ่อย มีความรู้สึกแน่นในช่วงคอ รู้สึกกลืนน้ำลายลำบาก เสียงแหบ ไอ หายใจไม่ออก สำลักน้ำลายหรือน้ำย่อยในเวลากลางคืนขณะหลับ
กลุ่มเสี่ยงเป็นโรคกรดไหลย้อน
- หญิงตั้งครรภ์
- ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ หรือ ผู้ที่สูบบุหรี่
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน
- ผู้ที่มีพฤติกรรมส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น การกินอาหารและนอนทันที
9 วิธี ห่างไกลกรดไหลย้อน
- งดสูบบุหรี่
- ลดน้ำหนักส่วนเกิน
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่มีการก้ม หรือโค้งตัวไปข้างหน้า
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด รวมถึง กาแฟ ชา และน้ำอัดลม
- กินบ่อยขึ้น โดยแบ่งเป็นมื้อเล็กๆ แทนมื้อใหญ่
- เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เพื่อลดอาการแสบร้อนกลางอก
- นอนหัวสูง โดยหนุนหัวเตียงให้สูงขึ้น ประมาณ 6 นิ้ว
- หลีกเลี่ยงการนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร ควรเว้นระยะ 3-4 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารมัน ช็อกโกแลต กระเทียม พืชตระกูลหอม เช่น หอมใหญ่ ต้นหอม
สูตรสมุนไพรไทย แก้อาการเรอเหม็นเปรี้ยว แสบร้อนกลางอก กรดไหลย้อน
วัตถุดิบ
- ยอดกระเพราแดง หรือ ยอดกระเพราเขียว 1 กำมือ
- น้ำสะอาด 1 ลิตร
ขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบ
- ล้างยอดกระเพราแดง หรือ ยอดกระเพราเขียว ด้วยน้ำให้สะอาด เสร็จแล้วพักไว้
ขั้นตอนการทำ
- นำหม้อตั้งไฟ ใส่น้ำสะอาดที่เตรียมไว้ ลงไป เสร็จแล้วใส่ยอดกระเพราแดง หรือ ยอดกระเพราเขียว ตามลงไป ต้มให้เดือด เสร็จแล้วยกลงจากเตา
- กรองเอาแต่น้ำ อุ่นวันละ 1 ครั้ง
วิธีรับประทาน
- รับประทาน ก่อนอาหาร เช้า – เย็น ครั้งละ 1 แก้วกาแฟ 60cc. ทานติดต่อกัน 3 วัน อาการกรดไหลย้อน เรอเหม็นเปรี้ยว แสบกลางอก จะมีอาการดีขึ้น
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
- งดอาหารแสลง อาหารรสจัด ของมัน ของทอด ของเปรี้ยว ของหมักดอง เป็นต้น
ข้อมูลอ้างอิง :
– รองศาสตราจารย์ นพ.ศักรินทร์ จิรพงศธร แผนกโรคทางเดินอาหารและตับ รพ.พระมงกุฎเกล้า ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ รพ.บำรุงราษฏร์
– น.พ.สุทธิพล อริยสถิตย์มั่น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โสต ศอ นาสิก
– ศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรไทย – หมอพื้นบ้าน วัดคีรีวงก์ ( วัดน้ำตก )
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ