วิธีปลูกโหระพา แบบง่ายๆ ไว้ทำอาหารกินเองที่บ้าน
วิธีปลูกโหระพา
โหระพา เป็นพืชที่ปลูกง่าย เหมาะที่จะปลูกไว้ในบ้าน โดยใช้พื้นที่ไม่มากนัก โดยโหระพา มีอายุที่จะให้ผลผลิตนาน 1-2 ปี เรียกว่าปลูกครั้งเดียว ก็สามารถเก็บมาใช้ทำอาหารได้ทั้งปี
ลักษณะโดยทั่วไป
โหระพา เป็นพืชล้มลุกอายุสั้น ลำต้นทรงพุ่มสูงประมาณ 60-70 เซนติเมตร ใบเขียว ก้านใบและลำต้นสีม่วงใบมีกลิ่นหอม โหระพาเป็นผักที่ใช้ใบบริโภค ใช้ปรุงแต่งอาหารให้มีรสชาติและกลิ่นหอมน่ารับประทาน
การเพาะเมล็ดสำหรับทำกล้าโหระพา
ทำแปลงเพาะขนาดกว้าง 1 เมตร ความยาวแล้วแต่แปลง ย่อยดินให้ละเอียดคลุกเคล้าปุ๋ยคอกหรือปุ้ยหมัก แล้วหว่านเมล็ดให้ทั่วแปลง หลังเพาะประมาณ 7-10 วัน เมล็ดเริ่มงอกดูแลรักษาต้นกล้าอายุประมาณ 25-35 วัน ก็สามารถย้ายปลูกได้ หรืออาจเพาะกล้าในถุงพลาสติกขนาด 2 x 3 นิ้ว โดยหยอด 2-3 เมล็ดต่อถุง
ในกรณีใช้กิ่งพันธุ์สำหรับปลูก ให้เลือกกิ่งที่ค่อนข้างแก่ และควรเป็นกิ่งสดความยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร หรือมีข้อประมาณ 5 ข้อขึ้นไป ใช้มีดคม ๆ เฉือนบริเวณโคนต้น แล้วนำไปชำในภาชนะที่ใช้ดินผสม ดูแลรดน้ำประมาณ 7-10 วัน ตาใหม่จะเริ่มแตกออกมา หรืออาจนำไปปลูกในภาชนะปลูกโดยตรงก็ได้
การปลูกในแปลงหรือในภาชนะ
1. กรณีปลูกในแปลงใช้จอบขุดย่อยหน้าดินให้ลึกประมาณ 15-20 เชนติเมตรย่อยดินให้ละเอียดใส่ปุ๋ยคอกหรือปุยหมัก หว่านคลุกเคล้าให้เข้ากับดินในแปลง ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 30 เซนติเมตร ระหว่างแถว 30-50 เซนติเมตร
2. กรณีปลูกในภาชนะต่าง ๆ เลือกภาชนะที่มีขนาดปานกลางมีน้ำหนักไม่มากหากต้องการปลูกแบบแขวน แต่พื้นที่ปลูกในภาชนะแบบตั้งอยู่บนพื้นดิน อาจใช้ภาชนะใหญ่เพื่อปลูกหลาย ๆ ต้น หรือใช้ภาชนะขนาดเล็กเพื่อปลูกเพียง 1 ต้นก็ได้ ใช้ดินผสมใส่ลงในภาชนะและย้ายกล้ลงปลูก หรือนำกิ่งมาปักชำก็ได้เช่นกัน
การดูแลรักษา
- การให้น้ำ ให้น้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอทุกวัน
- การกำจัดวัชพืช ควรกำจัดวัชพืชทุกครั้งที่มีการให้ปุยและเมื่อมีวัชพืชรบกวน
การเก็บเกี่ยว
หลังปลูกประมาณ 30-35 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้โดยใช้มือเด็ดหรือกรรไกรตัดกิ่งที่มียอดอ่อน ไปบริโภคและถ้าต้นโหระพาออกดอกควรหมั่นตัดแต่งดอกทิ้ง เพื่อให้โหระพามีทรงพุ่มที่แข็งแรงและมีอายุยืนยาว
โรคและแมลงที่ต้องระวัง
นอกจากวัชพืช เช่น แห้วหมูและผักโขม ที่ต้องคอยระวังและกำจัดแล้ว คนที่ปลูกต้นโหระพาต้องคอยสำรวจตรวจเช็กและใส่ใจดูแลเพื่อป้องกันโรคและแมลงเหล่านี้เอาไว้ด้วย
- เพลี้ยไฟโหระพา : เป็นเพลี้ยที่ดูดกินน้ำเลี้ยงจากเซลล์พืช ทำให้ใบหรือยอดอ่อนหงิก ส่วนขอบม้วนงอ โดยสามารถแก้ไขได้ด้วยการหมั่นสำรวจและติดกับดักกาวเหนียวสีเหลือง เพื่อดักจับตัวโตเต็มวัย
- เพลี้ยอ่อนฝ้าย : เป็นเพลี้ยที่ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและยอด ทำให้มีอาการงอหงิก และชะงักการเจริญเติบโต อีกทั้งยังเป็นพาหะนำไวรัสหลายชนิดมาสู่พืชด้วย โดยจะพบมากในช่วงอากาศแห้งแล้งหรือฤดูหนาว แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยการกำจัดวัชพืชเป็นประจำ และถ้าหากพบพืชหงิกงอให้ตัดส่วนนั้น ๆ ออกแล้วนำมาเผาทิ้ง
- แมลงหวี่ขาวยาสูบ : เป็นแมลงที่ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ทำให้ใบเหี่ยวแห้งและต้นแคระแกร็น อีกทั้งยังเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคด่างเหลืองอีกด้วย พบมากในฤดูแล้ง สามารถแก้ไขได้ด้วยการหมั่นสำรวจและติดกับดักกาวเหนียวสีเหลือง เพื่อดักจับตัวโตเต็มวัย
- หนอนแมลงวันชอบใบ : เป็นหนอนที่ชอนไชใบจนทำให้เกิดรอยสีขาว แต่ถ้าระบาดรุนแรงอาจจะทำให้ใบร่วงและตายได้ ส่วนการแก้ไขคือ หมั่นเก็บเศษใบที่ถูกทำลายและร่วงหล่นตามพื้นดินมาเผาทิ้ง จะช่วยลดการแพร่ระบาดได้
- หนอนผีเสื้อห่อใบ : เป็นตัวอ่อนของผีเสื้อที่มักจะปล่อยเส้นใยและกัดกินใบไปเรื่อย ๆ จนถึงยอด
- โรคเหี่ยว : เป็นโรคที่ทำให้ใบดำและเหี่ยวตาย สามารถแก้ไขได้ด้วยการฉีดยากำจัดเชื้อรา
- โรคใบเน่า : เป็นโรคที่ทำให้ใบเป็นแผล มีน้ำและมีเมือก โดยแผลจะค่อย ๆ ลุกลามไปเรื่อย ๆ จนทำให้ต้นเน่าตาย
ที่มา : www.sarakaset.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ