เทคนิคการปลูกไพล และการดูแลรักษา
ไพล หรือ ว่านไพล ชื่อสามัญ Phlai, Cassumunar ginger, Bengal root
ไพล ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber montanum (J.Koenig) Link ex A.Dietr. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Zingiber cassumunar Roxb., Zingiber purpureum Roscoe) จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)
สมุนไพรไพล มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปูขมิ้น มิ้นสะล่าง (ฉาน-แม่ฮ่องสอน), ว่านไฟ ไพลเหลือง (ภาคกลาง), ปูเลย ปูลอย (ภาคเหนือ), ว่านปอบ (ภาคอีสาน) เป็นต้น
ลักษณะของไพล
- ไม้ล้มลุก สูงประมาณ 1 – 1.5 เมตร มีลำต้นใต้ดินลักษณะเป็นเหง้ามีขนาดใหญ่ และเป็นข้อ เปลือกมีสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในหัวสีเหลืองแกมเขียว แทงหน่อหรือลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอ โดยจะประกอบไปด้วยกาบหรือโคนใบหุ้มซ้อนกันอยู่ เหง้าไพลสดฉ่ำน้ำ รสฝาด เอียด ร้อนซ่า มีกลิ่นหอมเฉพาะ ส่วนเหง้าไพลแก่สดและแห้งจะมีรสเผ็ดเล็กน้อย
- ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกใบเรียงสลับระนาบเดียว กว้างประมาณ 3.5-5.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 18-35 เซนติเมตร ลักษณะใบรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ขอบใบเรียบ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมน แผ่นใบบาง เนื้อในละเอียดสีเขียว โคนก้านใบแผ่ออกมีหูใบ
- ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด แทงช่อดอกออกจากเหง้าใต้ดิน รูปเห็ดหรือรูปกระบองโบราณ มีใบประดับสีม่วงซ้อนกันแน่น รูปโค้งห่อรองรับเป็นกาบปิดแน่น และจะขยายเปิดอ้าออกให้เห็นดอกในภายหลัง กลีบดอกมีสีนวล ออกดอกระหว่างกลีบของใบประดับ
- ผล เป็นผลแห้งแตก รูปทรงกลม มีเมล็ดกลมแข็งขนาดเล็กอยู่ภายใน เปลือกเมล็ดสีน้ำตาลแกมเหลือง
ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด แง่ง หรือเหง้า แต่โดยทั่วไปแล้วจะใช้ส่วนของเหง้าเป็นท่อนพันธุ์ในการเพาะปลูก พรรณไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียแถบประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ปลูกกันมากในจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี และสระแก้ว
วิธีการปลูกไพล
การเตรียมดิน
- ไถพรวนดิน กำจัดเศษวัสดุและวัชพืช ตากดิน 7-15 วัน
- ปลูกพืชตระกูลถั่วแล้วไถกลบในระยะออกตอก หรือใส่ปุ๋ยคอก 1- 2 ตันต่อไร่
- ใส่ปูนขาว ปรับค่า pH 5.5 – 6.5
การเตรียมพันธุ์
- แซ่หัวพันธุ์ใน Indole Acetic Acid ความเข้มข้น 250 ppm เป็นเวลา 24 ชั่วโมง
- แบ่งหัวพันธุ์ น้ำหนัก 100 กรัมต่อหัว มีตา 3 – 5 ตา
การปลูก
- ใช้ระยะปลูก 25 x 27 เซนติเมตร
- ชุดหลุมปลูกขนาด กว้าง x ยาว x ลึก 25 x 25 x 15 เซนติเมตร
- ใส่ปุ๋ยคอกรองกันหลุม หลุมละ 250 กรัม
- วางเหง้าในหลุม กลบดิน คลุมด้วยฟางหนา 2 นิ้ว
การใส่ปุ๋ย
- ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 500 กิโลกรัมต่อไร่
- ใส่หลังการปลูก 1 เดือน และ 4 เดือน
การให้น้ำ
- ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอจนกว่าพืชจะตั้งตัวได้ หลังจากนั้นให้น้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือตามสภาพแวตล้อม
การกำจัดวัชพืช
- กำจัดวัชพืช 2 ครั้ง พร้อมการใส่ปุ๋ย
ศัตรูที่สำคัญและการป้องกันกำจัด
โรคเหี่ยว ป้องกันกำจัดโดย
- ใช้หัวพันธุ์ที่ปลอดโรค และปลูกพืชหมุนเวียนที่ไม่เป็นพืชอาศัยของโรค ในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรค ใช้ยูเรียผสมปูนขาว อัตรา 80 : 100 กิโลกรัมต่อไร่ คลุกเคล้าดิน และใช้แผ่นพลาสติก สีดำคลุมทิ้งไว้ 3 สัปดาห์ ก่อนปลูกพืช
- ขุดต้นที่เป็นโรคเผาทำลาย และโรยปูนขาวรอบหลุมปลูก
การเก็บเกี่ยว
- เก็บเกี่ยวเมื่อต้นไพลเหี่ยวและฟุบ
- เก็บเกี่ยวไพลอายุ 1 ปี เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบประกอบเครื่องยา เครื่องสำอาง และส่วนผสมในลูกประคบ
- เก็บเกี่ยวไพลอายุ 2 ปี เพื่อใช้สกัดน้ำมัน
- ขุดเหง้าไพลโดยใช้จอบ เสียม ระวังไม่ให้เกิดบาดแผล รอยช้ำ
ประโยชน์ของไพล
- ช่วยทำให้ผิวหนังชุ่มชื่น ด้วยการใช้เหง้าสด 1 แง่ง นำมาฝานเป็นชิ้นบาง ๆ แล้วต้มรวมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ เนื่องจากไพลจะมีน้ำมันหอมระเหย (เหง้าสด)
- ประโยชน์ไพลช่วยไล่แมลง ฆ่าแมลง (เหง้า)
- ช่วยกันยุงและไล่ยุง น้ำมันจากหัวไพลผสมกับแอลกอฮอล์นำมาใช้ทาผิวสามารถช่วยกันยุงและไล่ยุงได้ (หัวไพล)
- สามารถนำมาทำเป็น ครีมไพล, น้ำมันไพล, ไพลผง, ไพลขัดผิว, ไพลทาหน้าได้
ข้อควรระวัง
- การรับประทานในขนาดสูงหรือการใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดพิษต่อตับได้ และยังไม่มีความปลอดภัยที่จะนำมาใช้เป็นยารักษาโรคหืด และไม่ควรนำมารับประทานแบบเดี่ยว ๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน นอกจากจะมีการขจัดสารที่พิษต่อตับออกไปเสียก่อน
- การใช้ครีมไพลห้ามใช้ทาบริเวณขอบตา เนื้อเยื่ออ่อน และบริเวณผิวหนังที่มีบาดแผลหรือมีแผลเปิด
- ไม่แนะนำให้ใช้สมุนไพรชนิดนี้กับสตรีมีครรภ์ หรืออยู่ระหว่างการให้นมบุตรและเด็กเล็ก
ที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ